วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ยุทธนาวีที่แม่น้ำ

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ประเทศของผมมีแม่น้ำสำคัญที่สุดในโลกอยู่สายหนึ่งครับ ชื่อว่า แม่น้ำลำไส้ แม่น้ำของผมนี้ก็คงสกปรกเหมือนกับแม่น้ำแม่กลองนั่นแหละครับ มีแม่น้ำก็ต้องมี ปากน้ำ แต่ปากน้ำของผมนี่แปลก แทนที่จะเป็นส่วนที่น้ำไหลลงสู่ทะเล ปากน้ำของผมกลับกลายเป็นต้นกำเนิดน้ำ ครับ ก็ปาก นั่นเองล่ะครับ ผมจะเรียกปากว่าอย่างอื่น แล้วเรียกกันว่าปากกระไรได้
แม่น้ำลำไส้ของผมยาวประมาณ 20 ฟุต คดเคี้ยวไปมา อัดแน่นอยู่ในส่วนที่คุณเรียกว่า ท้อง หรือ พุง ซึ่งมีความกว้าง ความยาวไม่เกิน 2 คืบ มีความหนาเพียงคืบเดียว แถมยังมี ตับ ม้าม อยู่อีกด้วย คุณลองตามผมมาซิครับ ผมจะพาชมแม่น้ำลำไส้ฟรี ๆ
ปากน้ำ ก็คือส่วนของปาก ประกอบด้วย ลิ้น ฟัน เหงือก ช่องปาก เวลาคุณอ้าปากเต็มที่จะเห็นลิ้นไก่ สองข้างลิ้นไก่เป็นต่อมทอนซิล ซึ่งศัตรูของผมคงเล่าให้คุณฟังไปแล้วในภาคจ้าวโรค พอเลยส่วนของท่อมทอนซิลไป คุณก็จะมองไม่เห็น บริเวณนี้เป็นส่วนที่สนามบินตัดกับแม่น้ำพอดี (สงครามโรค-ตอนสนามบิน) ส่วนของแม่น้ำจะอ้อมไปด้านหลัง แต่ส่วนของหลอดลม อ้อมไปด้านหน้า ส่วนของแม่น้ำตอนนี้ จะตรง ไม่คดเคี้ยว และแคบ เป็นตอนที่เรียกว่า หลอดอาหาร ซึ่งจะยาวตั้งแต่ลำคอจนถึงลิ้นปี่
ต่อจากหลอดอาหาร แม่น้ำก็จะกว้างออก นับว่าเป็นตอนที่กว้างที่สุด ก็ว่าได้ กลายเป็นตอนที่เรียกว่า กระเพาะเหมือน ๆ กับกระเพาะหมูนั่นแหละครับ (รูป 1)


ต่อจากกระเพาะอาหาร ก็จะเป็นตอนที่แคบลงอีก เรียกว่า ลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งจะมีท่อน้ำดีจากถุงน้ำดีและจากตับมาเชื่อมต่อ และมีท่อจากตับอ่อนมาเปิดในบริเวณใกล้กัน ทั้งกระเพาะและสำไส้ส่วนต้น มีหน้าที่สำคัญ คือ การย่อยอาหาร
ต่อไปจะเป็น ลำไส้เล็กส่วนกลาง และ ส่วนปลาย ซึ่งจะเป็นตอนที่คดเคี้ยวมากที่สุด และมีพื้นที่มากที่สุด มีหน้าที่สำคัญ คือ การดูดซึมอาหาร
จากลำไส้เล็กส่วนปลาย ก็จะมีทางเปิดเข้าลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นส่วนที่แม่น้ำจะกว้างกว่าลำไส้ เล็กมีรูปร่างคล้ายเลข 7 ส่วนตรงหัวเลข 7 จะเป็นส่วนที่เชื่อมกับลำไส้เล็ก ใกล้ ๆ กันนั้นจะมีไส้ติ่ง ที่มันชอบอักเสบบ่อย ๆ ทำให้ใครต่อใครต้องไปผ่าตัดทิ้งกันเป็นแถว ๆ ลำไส้ใหญ่มีหน้าที่สำคัญ คือ การดูดน้ำจากกากอาหารที่ถูกขับจากลำไส้เล็กและเป็นที่สะสมอึอีกด้วย พอมีมากพอควรก็จะกระตุ้นโดยจำนวนอึ ทำให้ผู้เป็นเจ้าของ รู้สึกปวดท้อง ไปถ่ายอึทิ้ง อึก็จะเดินทางผ่านหางเลข 7 ลงไปสู่ ลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้าย และออกไปสู่ภายนอกตรงช่องอึ หรือก้นหลัง ซึ่งถ้าเรียกจริงๆ ก็น่าจะเป็นปากน้ำนะครับ แต่ผมขืนเรียกก้นว่าปาก ใครๆ คงหาว่าสติสตังไม่ดีเป็นแน่
ผมเขียนถึงตรงนี้ ผมก็ได้ยินข่าวจากวิทยุในโรงพยาบาลแจ้ว ๆ ว่า พระภิกษุวัดหนึ่งรับนิมนต์ไปฉันเพล ขากลับดื่มน้ำอัดลมแถว ๆ ชลบุรี หลังจากนั้นไม่ถึงชั่วโมงก็เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง จนต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นแถว ๆ ข่าวบอกว่าเป็นอหิวาตกโรคเสียด้วย
ผมเจ็บใจเหลือเกิน พูดอยู่ได้ ผมกำลังจะตายอยู่แล้ว เจ้าตัวอหิวาต์มันกำลังวิ่งยั้วเยี้ยเต็มแม่น้ำลำไส้ของผมหมด ใช่แล้วครับ ผมก็คือส่วนหนึ่งของแม่น้ำลำไส้ของพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งในข่าวนั่นแหละครับ

ความจริงมีอยู่ว่า เจ้านายของผมพระคุณเจ้าท่านเดินทางเหนื่อย ๆ คุณต๋อย เธอก็ถวายน้ำหวานใส่น้ำแข็ง เย็นเจี๊ยบน่าชื่นใจ ให้ท่านดื่ม ท่านก็ดื่มจนหมดแก้วเลย พระบางรูปดื่มถึง 2 แก้ว คุณต๋อยเธอเป็นคนชบทำบุญ แต่เธอไม่ค่อยรู้จักจ้าวโรค คงเป็นเพราะเธอไม่เคยอ่าน “หมอชาวบ้าน” เธอตื่นเช้าก็เข้าห้องน้ำปล่อยทุกข์ แต่เธอไม่ได้ล้างมือด้วยสบู่ พอเธอทำธุระของเธอเสร็จ คุณเธอก็ไปชงน้ำหวานใส่ขวดโหลใบใหญ่ไว้ เผอิญคุณต๋อยเธอเป็นคนประเภทที่เขาเรียกว่า ตัวนำเชื้อโรค คือเธอมีเชื้ออหิวาต์จำนวนน้อย ๆ อยู่ในลำไส้ของเธอ และร่างกายของเธอก็จัดระบบควบคุมไว้ได้โดยที่เธอไม่เกิดโรค เจ้าอหิวาต์ติดมือคุณต๋อย และลงไปในน้ำหวานที่เธอเตรียมไว้
อันที่จริงอหิวาต์ตกลงไปไม่กี่ตัวหรอกครับ แต่น้ำหวานเป็นอาหารที่ดีสำหรับเจ้าอหิวาต์ มันจะกินจนอิ่มปี๋ครับ พออิ่มก็จะเริ่มแบ่งตัวขยายพันธุ์ทันที พอตกถึงเย็นก็จะมีจำนวนเป็นร้อย ๆ ล้านตัวทีเดียวครับ คุณต๋อยเธอไม่ได้เก็บน้ำหวานในตู้เย็น เพราะไม่มีตู้เย็นจะใส่ แล้วเธอก็คิดว่าทำไมน้ำหวานเข้มข้นในขวด (หัวน้ำหวาน) ไม่เห็นต้องเก็บตู้เย็นเลยก็ไม่เสีย ชงแล้วก็ต้องไม่เสียเหมือนกัน เพราะยังไม่ทันจะข้ามคืนเลย ครับ น้ำหวานเข้มข้น เสียได้ยาก เพราะแบคทีเรียเจริญในน้ำหวานที่เข้มข้นจริง ๆ ไม่ได้ แต่ในน้ำหวานเจือจางขนาดที่คนกินได้ แบคทีเรียขึ้นได้ดีครับ เพียงไม่ถึงชั่วโมงก็เป็นร้อยล้านตัวทีเดียว
ตอนที่พระคุณเจ้า นายของผมจะดื่มน้ำหวาน ผมร้องห้ามจนสุดเสียง แต่พระคุณเจ้าท่านไม่ได้ยินดื่มเข้าไปจนได้ ผมแทบเป็นลม เกิดเรื่องแน่ ๆ ครับ คราวนี้ สงครามกำลังจะเกิดแล้ว เป็นสงครามทางทะเลที่ยิ่งใหญ่กว่ายุทธนาวีครั้งใด ๆ เสียอีก เพราะเจ้านายผมดื่มเอาอหิวาตกโรคเข้าไปถึงร้อยล้านตัว
ขณะนี้อหิวาต์ถึงสนามรบที่สำคัญแล้วครับ ยุทธนาวีที่กระเพาะ พอน้ำหวานตกถึงท้อง กระเพาะก็เริ่มหลั่งน้ำย่อยออกมาโดยอัตโนมัติ น้ำย่อยนี้ส่วนหนึ่งประกอบด้วยกรดเกลือ กระเพาะเริ่มเขย่า ๆ ไปมาให้กรดเคล้ากับอาหาร ในเวลาเดียวกันก็คลุกเคล้ากับเจ้าตัวอหิวาต์ด้วย มีอหิวาต์เป็นล้าน ๆ ตัวตายไป เพราะถูกน้ำกรดสาดหน้า บางตัวก็เสียโฉมพิการไปก็มี ผมอยากจะตีกระเพาะเสียจริง ๆ น่าจะจับเขย่า ๆ ให้ตายเสียให้หมด แต่ความจริง อหิวาต์มีมากเกินกว่าที่กระเพาะจะกำจัดได้ กระเพาะก็บีบตัวไล่เอาทั้งอาหารและอหิวาต์เข้าไปในลำไส้เล็กส่วนต้น ที่บริเวณนี้มีน้ำกรดเจือจางมาก แถมยังมีน้ำย่อยอื่น ๆ มาประกอบ ทำให้สภาพกรดน้อยลง และเริ่มกลายเป็นด่าง ซึ่งเป็นภาวะที่อหิวาต์ชอบมากครับ ตัวที่รอดตายจากสนามรบก็หายเหนื่อย ตัวที่พิการไปบ้าง พอที่จะรักษาหาย ก็หายวันหายคืน เมื่อมีสภาพดี อาหารดี ก็มีการแพร่พันธุ์มากขึ้น คราวนี้มากกว่าตอนที่กินเข้าไปใหม่อีกครับ
ที่จริงบริเวณลำไส้เล็กก็มีนักเลงประจำถิ่น พอที่จะขัดขวางการเจริญของอหิวาต์อยู่เหมือนกัน แต่คราวนี้ อหิวาต์จำนวนมากและแข็งแรง นักเลงโตก็เลยกระจอกไปเสียหมด เชื้ออหิวาต์อยู่ในลำไส้เล็กส่วนกลางและปลายมากที่สุด เพียงชั่วเวลาแค่ 3 ชั่วโมง ก็มีจำนวนมากมายจนนับไม่ไหวเอาล่ะครับผมเดือดร้อนแน่ ๆ
อหิวาต์เริ่มสร้างสารพิษจำนวนมาก สารพิษนี้มีคุณลักษณะบังคับให้เซลล์ลำไส้ ปล่อยน้ำออกนอกเซลล์ คือปล่อยไปในลำไส้นั่นเอง เซลล์ผนังลำไส้ไม่มีโอกาสต้านทานเลย ต้องทำตามอย่างไม่มีเงื่อนไข เรียกว่า ทำนบพัง น้ำทะลักเข้าไปในลำไส้มากมายเป็นลิตร ๆ ทำให้เซลล์และหลอดเลือดขาดน้ำอย่างมาก หลอดเลือดเป็นระบบปิดนะครับ ฉะนั้นคุณลองเอาหลอดกาแฟมาอันหนึ่ง ดูดน้ำให้เต็มแล้วเอามืออุดปลายข้างหนึ่งไว้ ต่อไปดูดน้ำกินเสียให้หมด คุณจะเห็นว่าหลอดกาแฟตีบทันที เส้นเลือดก็เหมือนกันครับ ถ้าน้ำถูกดูดออกไป เส้นเลือดก็จะตีบ การทำงานจะเสียไปหมด เซลล์จะขาดออกซิเจน จะเกิดภาวะที่เรียกว่า ช็อค เกิดขึ้น
ลำไส้รู้ตัวแล้วครับว่า ข้าศึกบุกหนัก พยายามส่งสัญญาณให้หน่วยกลางรู้ หน่วยกลางส่งทหารทัพหน้าไปที่ลำไส้ แต่ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะเชื้ออยู่ในช่องลำไส้ ไม่ได้อยู่ที่ผนังลำไส้ จึงให้วิธีจู่โจม คือเร่งให้ลำไส้บีบตัว ไล่เชื้ออหิวาต์ไปสู่นอกร่างกายเป็นการใหญ่ พระคุณเจ้าของผมก็เกิดอาหารท้องร่วงอย่างแรง ถ่ายทีละมาก ๆ อึเหลว เป็นสีน้ำซาวข้าว ผลดีต่อตัวเองคือ อหิวาต์ถูกขับถ่ายออกไปจนเหลือน้อย แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เสียน้ำไปมากมายในระยะเวลาสั้นๆ นอกจากนั้นยังเสียเกลือแร่ที่สำคัญของร่างกายอีกด้วย ทำให้สภาวะกรด-ด่างในร่างกายเสียไป ภาวการณ์แลกเปลี่ยนออกซิเจนก็เสียไปยิ่งขึ้นอีก ทำให้อาการช็อคแย่ลง ๆ
ผมว่าขณะนี้ถึงขั้นวิกฤต เหมือนอัฟกานิสถานตอนถูกรัสเซียช่วยปฏิวัติเมื่อ 2-3 เดือนก่อนโน้น พระคุณเจ้าของผมทำท่าจะแพ้จ้าวโรคเสียแล้วครับ
โชคดีอยู่นิดหนึ่งที่พระคุณเจ้าของผมยังหนุ่มแน่น และมาถึงโรงพยาบาลก่อนระยะช็อคเล็กน้อย คุณหมอเธอก็ให้น้ำเกลือ ฉีดยา ให้อ๊อกซิเจน อะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง สัก 2-3 ชั่วโมง พระคุณเจ้าของผมก็ดูดีขึ้น ผมเริ่มหายอึดอัด หายใจโล่งขึ้น สภาพทั่วไปก็ดีขึ้น พอดีกับคุณอหิวาต์ถูกขับถ่ายออกไปนอกร่างกายจำนวนมากพร้อม ๆ กับสารพิษ ผมก็สบายขึ้น ประกอบกับได้น้ำได้ยาจากหมอ ทำเอาผมเริ่มสอดส่ายมองหาหลวงตาแสงเพราะผมออกจะเป็นห่วงท่านมาก ท่านดื่มน้ำหวานถึง 2 แก้ว และชราภาพแล้วด้วย
ผมมองเห็นท่านแล้ว ท่านกำลังอยู่ในสภาพตรีทูต และในที่สุดท่านก็มรณภาพ แสดงว่าข้าศึกชนะสงครามครับผม ผมมองเห็นหลวงตาแสง ตาลึกโบ๋ แก้มตอบ ผิวหนังเหี่ยวย่นมากยิ่งกว่าใครๆ แสดงถึงการสูญเสียน้ำจากเซลล์ต่างๆ ของร่างกายไปเป็นจำนวนมาก เกินกว่าที่จะแก้ไขได้แล้วครับ ผมเศร้าจริง ๆ
วันรุ่งขึ้น คุณต๋อยเธอรีบมาเยี่ยมพระภิกษุที่อาพาธ เพราะเธอได้ยินทางวิทยุว่าเธอเป็นเหตุ พอมาถึงเธอก็ร้องถามหาหลวงตาแสง เพราะเธอเคารพท่านมาก ผมอยากตะโกนดัง ๆ ว่า
ช้าไปแล้วต๋อย”
ปล. ครั้งนี้ขอดภาคพิเศษ เพราะยาวเกินไปแล้วครับ
จากผม “นายเซลล์ผนังลำไส้เล็กของพระคุณเจ้า”

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

โรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กนักเรียน ประมาณกันว่า 2% ของเด็กนักเรียนเป็นโรคนี้ และ 5% ของเด็กที่เป็นโรคนี้เป็นหูน้ำหนวกชนิดอันตราย โรคนี้มักจะไม่เกิดกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหูน้ำหนวกแสดงว่า เขาเป็นโรคนี้ตั้งแต่เด็ก และเป็นเรื้อรังกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่
ลักษณะพิเศษของโรคนี้ ได้แก่ เป็นเรื้อรังกันคนละหลาย ๆ ปี และไม่มีอาการปวดหู (นอกจากจะมี
โรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น)

รูปที่ 1  :  หูปกติ

รูปที่ 2 :  แสดงแก้วหูทะลุ และกระดูกหูบางส่วนถูกทำลายจากโรคหูน้ำหนวก
โรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง คืออะไร ?

โรคหูน้ำหนวกเรื้อรัง หมายถึง อาการอักเสบของหูชั้นกลาง (ดูรูปที่ 1) จากเชื้อแบคทีเรีย การอักเสบนี้จะทำให้มีหนองขังอยู่ภายในหูชั้นกลางและทำให้แก้วหูทะลุเป็นรูกว้าง (รูปที่ 2) บางครั้งจะเกิดการอักเสบและมีหนองขังอยู่ในกระดูกมาสตอยด์ กระดูกนำเสียงบางชิ้นหรือทั้งหมด จะถูกทำลายจากการอักเสบ และถ้าการอักเสบรุนแรงมาก เชื้อแบคทีเรียอาจลุกลามเข้าไปในสมองทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และเป็นฝีในสมองได้
หูน้ำหนวกไม่ใช่เกิดจากน้ำเข้าหู
คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า หูน้ำหนวกเกิดจากน้ำเข้าหู ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นทั้งนี้เนื่องจากว่าหูชั้นนอก แยกจากหูชั้นกลางอย่างเด็ดขาด โดยมีเยื่อแก้วหูกั้นอยู่ (รูปที่ 1) น้ำจากภายนอกจะไม่สามารถเข้าไปในหูชั้นกลางได้เลย ถ้าแก้วหูไม่เคยทะลุมาก่อน การที่น้ำเข้าหูแล้วเกิดมีน้ำหนวกไหล แสดงว่าเด็กคนนั้นเคยเป็นโรคหูน้ำหนวกมาก่อน แต่อาการของโรคสงบลงชั่วคราว แก้วหูที่เคยทะลุจากโรคนี้ยังไม่อาจสมานติดกันได้ เมื่อน้ำเข้าหู น้ำจากหูชั้นนอกจะผ่านรูทะลุแก้วหูเข้าไปในหูชั้นกลาง ทำให้เกิดการอักเสบของหูชั้นกลางใหม่ จึงทำให้มีน้ำหนวกไหลอีก (รูปที่ 3)

ความจริงแล้ว โรคหูน้ำหนวกเรื้อรังเกือบทั้งหมด เกิดจากการอักเสบของลำคอส่วนบนและระบบหายใจส่วนต้นที่ลุกลามเข้าไปยังหูชั้นกลาง ผ่านทางท่อยูสะเตเชี่ยน โรคต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่ โรคหัด, ไซนัสอักเสบ, ไข้หวัด, ต่อมทอนซิลอักเสบ สุขภาพของเด็กก็มีส่วนสำคัญต่อการเกิดโรคหูน้ำหนวกด้วย เด็กที่เป็นโรคขาดอาหารสุขภาพไม่แข็งแรงและไม่ระมัดระวังรักษาความสะอาด จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่ำ และเป็นโรคนี้ได้ง่ายกว่าเด็กที่มีอนามัยสมบูรณ์

โรคหูน้ำหนวกที่มีอันตรายถึงตายก็มี

โดยทั่วไป เราแบ่งโรคหูน้ำหนวก เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ โรคหูน้ำหนวกชนิดไม่มีอันตราย และ โรคหูน้ำหนวกชนิดมีอันตราย จากการสำรวจโรคหูของโครงการโสตพิทักษ์ ของสมาคมโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย พบว่า 5% ของเด็กที่เป็นโรคหูน้ำหนวกรื้อรังเป็นชนิดอันตราย

เราจะทราบได้อย่างไรว่าชนิดไหนเป็นชนิดอันตราย? ขอให้สังเกตดูจากตารางข้างล่างนี้

โรคหูน้ำหนวกมีอันตรายอย่างไร?
โรคหูน้ำหนวกะมีอันตรายก็ต่อเมื่อมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ชนิดไม่มีอันตรายมักจะไม่มีโรคแทรกซ้อน นอกจากจะกลายเป็นชนิดที่เป็นอันตรายทีหลัง (ซึ่งเป็นไปได้น้อย) แต่โรคหูน้ำหนวกชนิดนี้ก็ยังมีผลเสียต่อเด็กนักเรียนอยู่เหมือนกัน คือ ถ้าเป็นหูน้ำหนวกทั้ง 2 ข้าง เด็กจะหูตึง เรียนหนังสือไม่ดี หรือสอบตก และมีน้ำหนวกไหลเป็นที่รังเกียจของเพื่อนนักเรียน
โรคแทรกซ้อนที่สามารถทำให้ตายได้ ได้แก่ โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเชื้อโรคลุกลามเข้าไปในสมองเสียส่วนใหญ่ คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นฝีในเนื้อสมอง หรือรอบ ๆ เยื่อสมอง โรคแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดความพิการของร่างกายได้แก่ ปากเบี้ยว, หูหนวกสนิท, โรคแทรกซ้อนที่ทำอันตรายต่อร่างกายชั่วคราวได้แก่ ฝีชนิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบ ๆ หู เช่น ฝีที่หลังหู บางรายฝีแตกแล้ว แต่ยังมีแผลเป็นและมีหนองออกอยู่เรื้อรังเป็นเดือนหรือเป็นปี เป็นฝีเหนือใบหู, เป็นฝีที่หน้าหู, เป็นฝีที่คอ ส่วนที่ต่ำจากใบหูเล็กน้อย ฝีชนิดต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปในเส้นเลือด ทำให้เลือดเป็นพิษ อาจถึงตายได้

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นหูน้ำหนวกชนิดอันตราย ?
ขอให้สังเกตดูตารางเปรียบเทียบระหว่างโรคหูน้ำหนวกชนิดอันตรายกับชนิดไม่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 1 ถึง ข้อ 3 ซึ่งจะเป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างดี นอกจากนี้พึงสังเกตว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้และมีอาการดังต่อไปนี้ จะเป็นโรคหูน้ำหนวกชนิดอันตรายเสมอ คือ พบว่ามีฝีหนองเรื้อรังหลังใบหู, มีอาการปากเบี้ยว หรือ หูหนวกสนิท

ผู้ป่วยคนนี้กำลังอยู่ในระหว่างอันตราย ?
อย่าลืมว่า หูน้ำหนวกชนิดอันตราย จะมีอันตรายต่อเมื่อมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น และโรคแทรกซ้อนจะเกิดเมื่อไหร่ก็เกิดได้ ดังนั้น ผู้ที่เป็นหูน้ำหนวกชนิดอันตราย จะมีอันตรายเกิดขึ้นกับตนเองได้ทุกเมื่อ จากสถิติพบว่า ยิ่งผู้ป่วยเป็นโรคนี้นานเท่าไร โอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจะมีมากขึ้นเท่านั้น ขอให้สังเกตว่า ผู้ป่วยที่มีอาการต่อไปนี้ กำลังอยู่ในระหว่างอันตรายคือ
(1) มีไข้สูง ร่วมกับมีอาการทางสมองอื่น ๆ เช่น คอแข็ง ชัก เกร็ง ซึมและเพ้อ
(2) มีฝีรอบ ๆ หู เกิดขึ้น
(3) ปวดหูข้างนั้นอย่างรุนแรง
(4) ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
(5) มีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน และตากระตุก
ถ้าพบอาการข้อหนึ่งข้อใดดังกล่าว ควรรีบไปหาหมอที่โรงพยาบาลทันที

จะดูแลตัวเองอย่างไรถ้าเป็นหูน้ำหนวก ?
ก่อนอื่นให้สังเกตว่า มีอาการที่เข้าในลักษณะของหูน้ำหนวกชนิดอันตรายหรือไม่ ถ้ามีหรือสงสัย ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เป็นการดีที่สุด
ถ้าเป็นชนิดไม่มีอันตราย (มีน้ำหนวกไหลเป็น ๆ หาย ๆ เคยใช้ยารักษาแล้วน้ำหนวกหยุดไหลได้ชั่วคราว อาการหูตึงไม่มาก และไม่มีโรคแทรกซ้อน) ขณะที่มีน้ำหนวกไหล ให้กินยาแก้แพ้-คลอร์เฟนิรามีน (เม็ดละ 10 สตางค์) ผู้ใหญ่กินครั้งละ 1 เม็ด เด็ก , เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง และใช้ยาหยอดหูที่เข้ายาคลอแรมเฟนิคอล เช่นยาหยอดหูคลอโรคอล (ขวดละ 16 บาท) หรือยาหยอดหูเคมิซีติน (ขวดละ 12 บาท) หยอดหูวันละ 2-3 ครั้ง ส่วนยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ใหญ่ไม่ต้องให้ สำหรับเด็กให้กิน เพนนิซิลลินวี
(เพนวี)
ครั้งละ 125 มิลลิกรัม (2 แสนยูนิต) วันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงและก่อนนอน ราคาอย่างเม็ด ๆ ละ 50 สตางค์ อย่างน้ำเชื่อม ขวดละ 10 บาท
ควรให้ยาเหล่านี้จนกว่าจะไม่มีน้ำหนวกไหล จึงค่อยหยุดยา ยกเว้น ผู้ป่วยที่เป็นหวัดเรื้อรัง มีอาการเป็นหวัดคัดจมูกทุกวัน ก็จำเป็นต้องให้ คลอร์เฟนิรามีน วันละ 2-3 ครั้งตลอดไป
ส่วนผู้ที่มีอาการหูตึง ต้องการให้หูได้ยินชัดกว่าเดิม ก็ควรจะไปรักษากับแพทย์หูคอจมูก แพทย์จะทำการผ่าตัดปิดแก้วหู และซ่อมแซมกระดูกนำเสียง ช่วยให้การได้ยินดีขึ้น

                                   โรงพยาบาลที่มีแพทย์หู คอ จมูก อยู่ประจำ

(1) จังหวัดเชียงใหม่ : โรงพยาบาลนครเชียงใหม่, โรงพยาบาลแมคคอมิค
(2) จังหวัดลำปาง : โรงพยาบาลประจำจังหวัดลำปาง
(3) จังหวัดขอนแก่น : โรงพยาบาลประจำจังหวัดขอนแก่น
(4) จังหวัดนครพนม : โรงพยาบาลประจำจังหวัดนครพนม
(5) จังหวัดระยอง : โรงพยาบาลสามย่าน
(6) จังหวัดจันทบุรี : โรงพยาบาลประจำจังหวัดจันทบุรี
(7) จังหวัดชลบุรี : โรงพยาบาลชลบุรี
(8) จังหวัดนครศรีธรรมราช : โรงพยาบาลนครคริสเตียน
(9) จังหวัดสงขลา : โรงพยาบาลประจำจังหวัดสงขลา, โรงพยาบาลหาดใหญ่
(10) กรุงเทพฯ : โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลจุฬาฯ, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลราชวิถี, โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, โรงพยาบาลวชิระ, โรงพยาบาลตำรวจ, โรงพยาบาลรถไฟ, โรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวงและ โรงพยาบาลเอกชนเกือบทุกแห่ง

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

อ้ายด่าง

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

นายของผมชื่ออะไรผมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าใคร ๆ ชอบเรียกว่า “อาแป๊ะ” ที่จริงอาแป๊ะก็ไม่ใช่คนแก่เฒ่าอะไร อายุก็ราว ๆ 50 เห็นจะได้ ร่างกายแข็งแรง เสียอย่างเดียวหลังโกงเล็กน้อย การที่อาแป๊ะหลังโกง ก็เพราะเป็นยี่ปั๊ว ขายน้ำแข็ง จำเป็นต้องยกน้ำแข็งก้อนโต ๆ เป็นประจำ
เมื่อยี่สิบปีก่อนอาแป๊ะเป็นเพียงลูกจ้างส่งน้ำแข็ง แต่ด้วยความขยันอดทน ตอนนี้ก็เลยเป็นเจ้าของกิจการส่งน้ำแข็งเสียเอง อาแป๊ะมีรถจี๊พคันหนึ่ง มีลูกสาวคนหนึ่ง และมีอ้ายด่างด้วย อ้ายด่างเป็นหมาลูกผสม ขนยาว สีขาวสลับดำ อาแป๊ะรักอ้ายด่างสุดสวาทขาดใจ
ชีวิตอาแป๊ะลำบากมามาก ทำงานหนักตลอดเวลา ปกติจะไม่ยิ้มกับใครเลย ยกเว้นกับอ้ายด่าง อ้ายด่างมันก็แสนจะรู้ใจอาแป๊ะ อาแป๊ะอยู่ทีไหนก็พบอ้ายด่างอยู่ที่นั่น แม้แต่อาแป๊ะเอาน้ำแข็งก้อนใหญ่ ๆ วางที่พื้นซีเมนต์หน้าบ้าน แล้วใช้เลื่อยใหญ่ ๆ ตัดน้ำแข็ง อ้ายด่างนั่งอยู่ใกล้ด้วย วันไหนอากาศร้อน ๆ อ้ายด่างก็จะเอาจมูกชนน้ำแข็งเล่น หรือไม่ก็นอนพิงก้อนน้ำแข็งเย็นสบายไป อาแป๊ะของผมก็ไม่ว่าอะไรเพราะความไม่รู้ประกอบกับความเคยชิน
อ้ายด่างของอาแป๊ะเป็นหมาที่เกิดในเมืองไทย ถึงแม้จะมีสายเลือดหมาไทยอยู่มากก็ตาม แต่ก็เป็นหมาที่ชอบอากาศเย็นมาก และถ้าร้อนก็จะโมโหเอาง่าย ๆ เสียด้วย ปกติอาแป๊ะก็จะเก็บน้ำแข็งก้อนใหญ่ ๆ ไว้กับพื้นบ้าน โดยมีกระสอบเก่า ๆ คลุมไว้ก่อนที่จะเลื่อยออกจำหน่าย สถานที่นั้นเลยกลายเป็นห้องแอร์ อ้ายด่างจะปีนขึ้นไปนอนบนกระสอบคลุมน้ำแข็งนั้นเย็นสบายไป
หลังจากอาแป๊ะเลื่อยก้อนน้ำแข็งแล้ว ก็จะบรรทุกขึ้นรถจี๊พ ซึ่งก็จะวางกับพื้นรถอีกนั่นแหละ อาแป๊ะมักจะใส่รองเท้าฟองน้ำปีนขึ้นปีนลงอยู่บ่อย ๆ ส่วนอ้ายด่างก็เช่นกันครับ พออาแป๊ะขนของเสร็จ อ้ายด่างก็กระโดดขึ้นไปสถิตอยู่บนก้อนน้ำแข็งท้ายรถตามเคย แถมโผล่หน้าชูคออย่างสบายอกสบายใจ อ้ายด่างไม่เคยใส่รองเท้า อึแล้วไม่เคยล้างก้น แถมยังชอบนั่งห้องแอร์และรถแอร์เสียด้วย คุณ ๆ ลองหลับตาดูสภาพคุณด่างกับก้อนน้ำแข็งซิครับ
ผมเองใจหายใจคว่ำทุกทีที่คุณด่างเสด็จอยู่บนน้ำแข็ง เพราะบางวันผมก็เห็น คุณด่างไปคุ้ยกองขยะที่อยู่หน้าบ้านอาแป๊ะ ดมโน่นดมนี่ คุ้ยอะไรต่ออะไรกิน พออิ่มหนำสำราญดีแล้ว คุณด่างก็ไปเลียก้อนน้ำแข็งแก้คอแห่ง เสร็จแล้วก็นอนบนก้อนน้ำแข็งนั้นเอง
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงนะครับ ไม่เชื่อคุณก็แวะไปดูได้ที่ตึกแถวเกือบสุดซอยเกื้อวิทยา ถนนเจริญนคร มีให้ดูทุกวันครับ วันหนึ่งคุณด่างเธอก็ไปเหยียบเอากับระเบิดสีเหลืองเละ ๆ มีกลิ่นเหม็นอบอวล แต่คุณด่างเธอว่าหอม ดม ๆ แล้วเธอก็ลองกินดูเล็กน้อย ชะรอยจะรู้สึกว่ามีอะไรมาติดที่ปาก คุณด่างก็เลยรีบกลับบ้านเอาจมูกไปเช็ดกับกระสอบคลุมน้ำแข็ง แล้วก็เลียน้ำแข็งอีกเล็กน้อยตามระเบียบผมมองเห็นแล้วรู้สึกเสียวจริง ๆ
คุณ ๆ ลองเอากล้องจุลทรรศน์มาส่องดูกับระเบิด (อึ) ที่คุณด่างทั้งเหยียบทั้งกินดูซิครับ คุณจะพบว่ามีแบคทีเรียจำนวนมากมายก่ายกองทีเดียวครับ เพียงแต่ขนาดปลายหัวไม้ขีดก็มีแบคทีเรียเกินหนึ่งร้อยล้านตัวแล้วครับ คุณลองคิดถึงสภาพของน้ำแข็งผสมกับระเบิดซิครับ นี่ถ้าคุณ ๆ ไม่มีระบบคุ้มกันดีเยี่ยมละก็ ผมว่าตายกันไปหมดโลกแล้ว
แบคทีเรียนับร้อย ๆ ล้านตัว บนก้อนน้ำแข็ง มันไม่ตายนะครับ อย่าเข้าใจผิด น้ำแข็งมีคุณสมบัติทำให้แบคทีเรียไม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นก็จริง แต่ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเลยนะครับ แบคทีเรียที่ติดอยู่บนผิวน้ำแข็งยังอาจแทรกตัวเข้าไปในก้อนน้ำแข็งได้ โดยเฉพาะน้ำแข็งที่อัดตัวไม่แน่น มีฟองอากาศอยู่ด้วย
แบคทีเรียที่ติดมากับคุณด่าง ทั้งที่พามาจากก้อนอึ และพามาจากที่อื่น รวมทั้งจากอึของคุณด่างเอง ต่างก็นั่งกันสลอนบนก้อนน้ำแข็ง รอเวลาที่ใครคนหนึ่งมาจับเข้าปาก จะได้ทำการแพร่พันธุ์ต่อไป
ถ้าเป็นเชื้ออหิวาตกโรค ก็จะเกิดสงครามที่เพื่อนผมเคยเล่าให้ฟังแล้วในตอน “ยุทธนาวีที่แม่น้ำ” (ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 14 เดือนมิถุนายน 2523) แต่ถ้าเป็นเชื้ออื่น ๆ ก็จะมีอาการแปลก ๆ ออกไป แต่ส่วนใหญ่เข้าทางปากก็มีอาการท้องร่วงแหละครับ
อาแป๊ะของผมเป็นคนแข็งแรง ภูมิต้านทานโรคดีมาก เรียกว่า ดีแต่กำเนิด จะกินอะไร ๆ ก็ไม่ค่อยท้องเดินกับเขาง่าย ๆ ในลำไส้ใหญ่ของอาแป๊ะ มีนักเลงโตประจำถิ่นมากมาย มีระบบการควบคุมซึ่งกันและกันดีเยี่ยม ทำให้ระบบท้องของอาแป๊ะอยู่ในสภาพดี
ผมแบ่งนักเลงโตประจำถิ่นของลำไส้อาแป๊ะออกเป็น 3 พวกด้วยกัน พวกหนึ่งได้แก่ ส่า อีกพวกหนึ่งได้แก่แบคทีเรียที่ต้องการอ๊อกซิเจน และพวกสุดท้ายคือ แบคทีเรียที่ไม่ต้องการอ๊อกซิเจน เชื้อทั้งสามพวกนี้ จะควบคุมซึ่งกันและกันไม่ให้มากเกินไป ไม่ให้น้อยเกินไป ถ้ามีอะไรไปรบกวนความสมดุลนี้ เช่น การใช้ยาประเภท “มัยซิน” ทั้งหลาย จะมีเชื้อบางพวกตายไป ทำให้เชื้ออีกพวกหนึ่งเจริญมากจนควบคุมไม่ได้ ก็ทำให้เกิดโรคได้เหมือนกัน
พอถึงตอนนี้ผมก็ขออนุญาตไถลไปเรื่องอื่นสักหน่อยนะครับ เพราะติดใจผมมานานแล้ว ขณะนี้บ้านเรามีนมเปรี้ยวขวดเล็ก ๆ ขายส่งตามบ้านราคาตั้ง 3 บาท ทำการโฆษณาเสียจนกระทั่งรู้จักกันทั่ว ผมไม่เอ่ยชื่อละครับ เดี๋ยวบรรณาธิการของหมอชาวจะถูกเป็นจำเลย เอาเป็นว่านมเปรี้ยวขวดเล็ก ๆ ที่มีขายระบาดทั่วกรุงเทพฯนั่นแหละครับ
ที่ผมต้องเอามาพูดถึงก็เพราะผมเห็นโฆษณา คุณจะกินอาหารสำส่อนอย่างไรก็ได้ไม่เป็นไร ถ้าคุณกินนมเปรี้ยวชนิดนั้นเข้าไปด้วย นอกจากนั้นยังทำให้สุขภาพดี ผิวสวย ไม่อ้วน โอ๊ย ! สรรพคุณมากมายเหลือคณานับ มีข้อแม้ว่า จะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องเสียเงินซื้อนมเปรี้ยวกินทุกวันนะครับ วันหนึ่งก็เป็นเงิน 3 บาท ปีหนึ่งก็ไม่ต่ำกว่าพันบาทละครับ สิ่งที่มีในนมเปรี้ยวก็คือ กรดชนิดหนึ่ง (กรดแล็คติคหรือกรดนม) น้ำตาลเล็กน้อย และแบคทีเรียประเภทแล็คโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งเป็นตัวทำให้นมเปรี้ยว ผู้ชายเขาก็จัดการโฆษณาว่าถ้ากินเชื้อนี้เข้าไปทุกวันแล้ว จะทำไมภูมิคุ้มกันของระบบทางเดินอาหารดี
คุณคิดดูซิครับ ระบบการคุ้มกันของทางเดินอาหารที่ธรรมชาติสร้างให้เรามาดีอยู่แล้ว เรื่องอะไรจะต้องกินตัวอะไรเข้าไปทุกวัน ๆ เพื่อสร้างระบบให้ดีด้วยเงินอีกตั้งหนึ่งพันบาทต่อปี ผมว่าคุณลองกินดูทุก ๆ วันสักปี สองปี ถ้าวันไหนไม่ได้กินละก็ ต้องเกิดอาการท้องเดินบ้างเป็นแน่ เพราะเท่ากับคุณไปสอนให้ลำไส้ของคุณชินกับการรับเชื้อแบคทีเรียจากภายนอกเข้าไป นอกจากนี้สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปใหม่นี้ ถ้าเข้ากับสมัครพรรคพวกนักเลงโตอยู่เดิมได้ก็ดีไป ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็ยุ่งอีก
อาแป๊ะของผมไม่สนใจนมเปรี้ยวหรอกครับ แต่ลูกสาวตัวเล็ก ๆ ของแกอายุแค่ 6 เดือนเท่านั้น ได้กินนมเปรี้ยวทุกวัน สาเหตุก็เพราะว่าอาซ้อเมียอาแป๊ะถูกสาวขายนมเปรี้ยวเกี้ยวเอาจนเข้าใจว่านมเปรี้ยวนั้นดีต่อสุขภาพลูกของแกเป็นที่สุด ถึงกับสละเงินซื้อวันละ 3 บาท ปกติครอบครัวอาแป๊ะเป็นคนประหยัดอย่างมาก อาซ้อเผอิญมีน้ำนมน้อย ลูกของแกก็เลยได้กินนมข้นหวานแทนเพราะมันถูก แถมด้วยข้าวกล้องอีกวันละมื้อสองมื้อ ดูซิครับถ้าแกเอาเงินค่านมเปรี้ยวไปซื้อนมผงให้ลูกกิน เด็กจะได้อาหารที่ดีแทนที่จะได้อาหารที่เกือบไม่มีคุณค่าเลยจาก นมเปรี้ยว นมข้นหวาน และข้าวกล้อง
วันนี้เป็นวันเคราะห์ร้ายของครอบครัวอาแป๊ะ เพราะมีคนมาขอซื้อน้ำแข็งบด อาแป๊ะเผอิญเอาก้อนที่คุณต่างพากับระเบิดมาคิดไว้ไปเข้าเครื่องบด อาซ้อเผอิญอีกนั่นแหละหยิบก้อนน้ำแข็งเล็ก ๆ ใส่ปากลูกสาว เอาละครับสงครามเกิดขึ้นอีกแล้ว ในก้อนน้ำแข็งนั้นมีตัวพยาธิเล็ก ๆ จำนวนมากทีเดียวครับ คนไทยเรามักเรียกว่าบิดมีตัว ฝรั่งเรียก เอ็นตะมีบ้า ฮิสโตลัยติกา (Entamoeba histolytica) พยาธิที่ถูกกินเข้าไปอยู่ในลักษณะหุ้มเกราะหรือซีสต์(cyst) พอถึงกระเพาะและลำไส้เล็ก ก็จะออกมาจากเกราะ และแบ่งตัวแบบจาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 ไม่นานก็มีมากมาย และพากันไปอยู่ในแหล่งที่ตนชอบคือ ลำไส้ใหญ่
ลูกของอาแป๊ะเป็นเด็กที่ได้รับอาหารผิด ๆ อยู่แล้ว คือแทนที่จะได้สารอาหารที่สำคัญ คือโปรตีน ซึ่งมีอยู่ในนมผงหรือนมสด กลับได้แต่อาหารแป้งจากนมข้นหวานและจากแป้งข้าวกล้อง รวมทั้งมีนมเปรี้ยวควบ อาหารทั้งสามชนิดนี้ไม่มีโปรตีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย พยาธิชนิดนี้ชอบสภาพของลำไส้ที่มีแต่อาหารแป้งอย่างนี้มาก จึงเจริญเติบโตรวดเร็ว และเข้าไปเกาะผนังลำไส้ใหญ่ แล้วปล่อยน้ำย่อยทำให้เกิดเป็นแผลเล็ก ๆ ทั่วไป ถึงร่างกายลูกสาวอาแป๊ะจะมีทหารพี ทหารเอ็ม มาต่อสู้ แต่ผนังลำไส้ที่อ่อนแอจากการขาดโปรตีนและสภาพอาหารแป้งช่วยให้มีจำนวนพยาธิเพิ่มมากมาย ลูกสาวอาแป๊ะ ก็เกิดโรคบิดจนได้
ลูกสาวอาแป๊ะ ถ่ายเป็นมูกปนเลือดและร้องไห้โยเย งอแงมากทุกวันจนอาแป๊ะ ทนไม่ไหว ต้องพาไปหาหมอที่โรงพยาบาล หมอขออึไปตรวจพบพยาธิตัวบิดเดินกันยุบยิบไปหมด เลยรีบเอาลูกสาวอาแป๊ะ ไว้รักษา กว่าจะหายดีก็ใช้เวลานานพอควร โชคของอาแป๊ะยังดีที่หมอพยายามสอนเรื่องอาหาร หลังจากนั้นลูกสาวของอาแป๊ะก็ได้กินนมผงบ้าง ทำให้สุขภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ
ที่จริงอาแป๊ะ ก็กินน้ำแข็งก้อนเดียวกับลูกสาวด้วย แต่ผมบอกแล้วอย่างไรครับว่า ลำไส้อาแป๊ะ แข็งแรงดีมาก พอพยาธิเข้ามาก็ถูกผ่านออกไป โดยทำอะไรอาแป๊ะ ไม่ได้ ผมผู้อยู่ในลำไส้ของอาแป๊ะ ก็ยังสุขสบายดีตามเดิม 

สวัสดีครับผม เซลล์ผนังลำไส้ของอาแป๊ะ

ภาคพิเศษ

พยาธิบิดมีตัว (Entamoeba histolytica) เป็นโปรโตซัว (สัตว์เซลล์เดียว) ขนาดเล็ก มีการแพร่พันธุ์โดยการแบ่งตัว เชื้อนี้จะมี 3 ระยะ คือ ระยะตัวแก่ ที่เรียกว่า “โทรโฟซอยด์” (Trophozoite) เป็นระยะที่เคลื่อนไหวได้รวดเร็วแบบอะมีบ้า ระยะหุ้มเกราะหรือซีสต์ (cyst) และระยะก่อนหุ้มเกราะ (intermediate precyst) ปกติคนติดเชื้อโดยการกินซีสต์ ซึ่งถูกขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ
เมื่อซีสต์เข้าไปในกระเพาะและลำไส้เล็กส่วนต้น มันจะถูกกระตุ้นให้เจริญเติบโตโดยจะมีตัวอ่อน 4 ตัว ออกมาจากแต่ละซีสต์ และแต่ละตัวก็จะแบ่งตัวต่อไปประมาณ 1-8 ตัว มันจะเคลื่อนไปอยู่ที่ลำไส้ใหญ่บริเวณซีกัม (cecum) และเพิ่มจำนวนและอายุขึ้น กลายเป็นตัวแก่ พวกตัวแก่จะปล่อยน้ำย่อยโปรตีน ทำลายผนังลำไส้ ทำให้เกิดเป็นแผลเล็ก ๆ ทั่วไป การเกิดเป็นแผลนี้เชื่อว่า มีการช่วยทำลายจากแบคทีเรียด้วย นอกจากนั้นยังขึ้นกับความรุนแรงของเชื้อ ความต้านทานของผู้ได้รับเชื้อ และที่สำคัญ พวกที่ได้รับอาหาร แป้งมากหรือพวกที่ขาดโปรตีน จะทำให้โรครุนแรงขึ้น
นอกจาก จะทำให้เกิดโรคบิดแล้ว ประมาณ 4% ของผู้ป่วย ยังทำให้เกิดฝีบิดในตับได้ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการที่กลุ่มของตัวแก่หลุดเข้าไปในระบบเส้นเลือดของตับ (Portal circulation) และเกิดเป็นฝีที่ตับได้ สมัยก่อนผู้ป่วยมักตาย ถึงแม้ในสมัยนี้ก็เถอะ ถ้าทิ้งไว้จนเป็นมาก ก็อาจตายได้เช่นกัน

 

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กระดูกหัก (1)

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ในยุคที่คุณทวดในปัจจุบัน ยังเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิงอยู่นั้น ปัญหาเรื่องกระดูกหักยังไม่เป็นที่พบกันได้บ่อยนัก เพราะสมัยโน้น ท่านยังไม่สามารถที่จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเหมือนเดี๋ยวนี้ โอกาสที่จะปะทะกับกำลังอัดขนาดสูง ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก นอกจากว่าเด็กชายหรือเด็กหญิงคุณทวดนั้น ท่านจะอุตริปีนขึ้นที่สูงแล้วตกลงมา หรือไม่ก็โดนทำร้ายร่างกายจนกระดูกหักปัญหาจึงจะค่อยรุนแรงหน่อย ถ้าเป็นการหกล้มธรรมดา ๆ แล้วกระดูกหัก ปัญหาก็มักจะไม่หนักหนาอะไร  (ในสายตาของหมอกระดูก
ปัจจุบัน)
ความเจริญทางอุตสาหกรรมและยานพาหนะ จึงเป็นสาเหตุสำคัญในการเพิ่มความรุนแรงของกระดูกหักในยุคนี้

กระดูกหักคืออะไร ?
ถ้าจะเปรียบเทียบกันง่าย ๆ กระดูกหักก็คล้าย ๆ กิ่งไม้หัก นั่นคือ จะต้องมีการตัดขาดของแท่งกระดูก โดยที่รอยขาดนั้น อาจจะเป็นเพียงบางส่วนหรือโดยรอบแท่งกระดูกนั้นก็ได้ กระดูกของเด็ก ๆ มักหักสะบั้นได้ยาก เหมือนกิ่งไม้สด ๆ ส่วนมากหักแล้วยังเหลือเปลือกหรือเนื้อเสี้ยนเชื่อมต่อกันอยู่ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้เพราะว่ามันยังมีสภาพเป็นสปริงยืดหยุ่นได้ดี แต่ในผู้ใหญ่นั้น กระดูกมักเปราะเหมือนกิ่งไม้แห้ง เวลาหักก็มักขาดสะบั้นออกเป็นสองชิ้นใหญ่ ๆ หรือหลาย ๆ ชิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ นักวิชาการจึงแบ่งประเภทของกระดูกหักออกเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ดังนี้คือ
1. กระดูกหักร้าวหรือหักไม่รอบ หรือหักไม่สมบูรณ์
2. กระดูกหักสะบั้นหรือหักโดยรอบหรือหักสมบูรณ์

กระดูกหักทำได้อย่างไร ?
คำถามนี้ดู ๆ ก็เชยดี แต่ถ้าไม่บอกก็อาจจะรู้ได้ไม่ถ้วนถี่ อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีองค์ประกอบที่สำคัญร่วมกันอย่างหนึ่งคือ “แรง” ซึ่งจะต้องมีมากระทำ กระดูกจึงจะหักได้ เช่น
1. แรงกระทำต่อกระดูกโดยตรง เช่น การใช้ของแข็งฟาด หรือทุบตี กระดูกมักจะมีรอยหักตามขวางหรือแตกเป็นหลายชิ้น
2. แรงกระทำต่อกระดูกโดยทางอ้อม เช่น การบิดหมุนขอบแกนกระดูก หรือกระดูกหักหลุดจากการหดเกร็งของเอ็นที่ยึดกับกระดูก รอยหักมักจะเฉียงหรือเป็นรูปเกลียวยาวหรือหลุดเป็นแว่น
3. แรงกระทำต่อกระดูกอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในเวลาติดต่อกัน โดยที่ขนาดของแรงนั้น ถ้ากระทำเพียงครั้งเดียวจะไม่ถึงขั้นทำให้กระดูกหักได้ เช่น การเดินทางไกล หรือทหารใหม่ไปซ้อมรบ แล้วมีกระดูกฝ่าเท้าหัก
4. กระดูกหักเนื่องจากกระดูกเองมีโรคอยู่แล้ว เช่น เป็นเนื้องอก เป็นโรคกระดูกเปราะหรืออ่อนหรือผุ เป็นต้น พวกนี้ได้รับแรงมากระทำเล็กน้อย เพียงครั้งเดียวก็หักได้

กระดูกหักวินิจฉัยได้อย่างไร?
ถ้ามีใครสักคนหนึ่งมาหาเราโดยที่มีปลายกระดูกหัก ทิ่มออกนอกเนื้อให้เห็นหรือแบนขาส่วนที่ไม่ใช่ข้อต่อ แต่เกิดหักงอได้ แบบนี้ต่อให้เด็ก ๆ ก็วินิจฉัยได้ว่ากระดูกหักแน่ ๆ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ถ้าไม่พบอาการแสดงชัด ๆ แบบนี้
เราจะทราบได้อย่างไรว่ากระดูกมันหัก ขั้นตอนที่ควรปฏิบัติ มีดังต่อไปนี้
1) การซักประวัติ
ประวัติที่สำคัญคือ การได้รับบาดเจ็บชัดเจน ซึ่งเป็นสาเหตุจูงใจให้สงสัยว่า อาจทำให้กระดูกหักได้ตามสาเหตุที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 และ 2 แต่การบาดเจ็บที่ไม่สามารถจะสังเกตได้ชัดเจน ก็ย่อมทำให้กระดูกหักได้เช่นกัน ดังเหตุผลในข้อ 3 และ 4 นอกจากนี้ ประวัติที่สำคัญอีก 2 ประการได้แก่ การเจ็บปวดเฉพาะที่ ซึ่งจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น ถ้ามีการเคลื่อนไหว และการสูญเสียหน้าที่ของอวัยวะ ที่ได้รับการบาดเจ็บนั้น ๆ ทั้งนี้ส่วนที่หักยังคงประกบกันเองได้มั่นคงดี อาการทั้ง 2 ประการนี้ ก็อาจไม่รุนแรงนัก ถ้าปลายกระดูกขยับได้ ผู้ป่วยมักบอกเราได้ว่า “ได้ยิน” เสียงกระดูกมันขัดสีกันดังกรอบแกรบตรงรอยหัก
2) การตรวจร่างกาย
สูตรที่ใช้กันในหมู่แพทย์คือ ดู คลำ เคาะ ฟัง เริ่มด้วยการดู ให้สังเกตว่าสีหน้าของผู้ป่วยนั้นแสดงว่ามีการเจ็บปวดจริง สำหรับตรงตำแหน่งที่หัก อาจพบมีอาการบวม มีรอยเลือดแทรกซึมอยู่ใต้ผิวหนัง มีรูปร่างผิดปกติ ให้เห็นได้ เช่น การบิดงอ หรือสั้นลงของแขนขา คลำดูที่ผิวหนัง ถ้าบวมมากจะตึงและอุ่นกว่าปกติ กดเบา ๆ จะมีอาการเจ็บตรงนั้นรุนแรง กล้ามเนื้อของกระดูกส่วนนั้นจะเกร็งตัวถ้ามีการขยับแม้เพียงแต่น้อย ถ้าคลำถูกรอยหักอาจมีปุ่มหรือเป็นขั้น ซึ่งเกิดจากกระดูกมันเกยเหลื่อมกัน การเคาะนั้นมีประโยชน์มาก เพราะบางครั้งเนื้อเยื่อฟกช้ำเฉย ๆ ถ้าเราไปคลำหรือบีบมันโดยตรง ก็อาจจะทำให้มีอาการเจ็บปวดรุนแรงได้ แต่ถ้าเราใช้วิธีเคาะบนตำแหน่งของกระดูกชิ้นที่สงสัยว่าจะหักตรงจุดที่ห่างจากบริเวณซึ่งกำลังสงสัยอยู่นั้น หากมีกระดูกหักจริง จะปวดมากตรงรอยหัก แต่ถ้าเป็นเพียงการฟกช้ำของเนื้อเยื่อ จะมีอาการเจ็บปวดไม่รุนแรงนัก สำหรับการฟังนั้น ไม่นิยมทำกัน เพราะไม่จำเป็นไปกว่าวิธีการอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ขอเสริมท้ายนิดหนึ่งว่า ควรตรวจร่างกายด้วยความนุ่มนวล อย่าทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำเติมโดยไม่จำเป็น
3) การดูจากภาพรังสี
วิธีนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และทักษะในการดูเป็นพิเศษ ไม่อยากชักชวนให้งวยงงเล่นเปล่า ๆ ถ้าสงสัยขอแนะนำว่าปรึกษาผู้รู้โดยตรงจะสนุกกว่า

กระดูกหัก ต้องระวังอะไรอีก?
จะขอชี้ให้เห็นความจริงสองประการที่เกี่ยวกับกระดูก ก่อนที่จะให้คำตอบต่อคำถามช้างบนนี้คือ
ประการแรก
ไม่มีกระดูกชิ้นไหนในร่างกายที่ไม่ถูกห่อหุ้มโดยผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนอื่น ๆ เช่น ไขมัน กล้ามเนื้อ เอ็น พังผืด ซึ่งอาจมีเส้นเลือดและเส้นประสาททอดผ่านไปด้วยได้
ประการหลัง
มีโครงกระดูกบางแห่งที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มป้องกันอวัยวะที่ละเอียดอ่อนและจำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิต เช่น กะโหลกศีรษะและกระดูกสันหลัง ซึ่งหุ้มประสาทส่วนกลาง (สมองและไขสันหลัง) ซี่โครงซึ่งหุ้มหัวใจ ปอด เส้นเลือดใหญ่ และช่องท้องส่วนบน กระดูกเชิงกราน ซึ่งหุ้มกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย เป็นต้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ กระดูกหักจึงต้องตรวจดูสิ่งต่อไปนี้ด้วยว่าเกิดขึ้นร่วมกันหรือไม่
1) ปลายกระดูกที่หักมีทางติดต่อกับบาดแผลที่ผิวหนังหรือไม่ ถ้ามี ทางติดต่อนี้อาจช่วยให้เชื้อโรคจากสิ่งแวดล้อมภายนอกเข้าสู่โพรงกระดูกได้
2) คลำดูชีพจรของเส้นเลือดที่ทอดผ่านตำแหน่งที่กระดูกหัก เพื่อให้แน่ใจว่า เส้นเลือดเหล่านี้ไมได้ถูกทำลาย นอกจากนี้ยังดูสภาพการไหลเวียนของเลือดว่าดี เป็นปกติหรือไม่โดยสังเกตดูสีของ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เล็บ เปรียบเทียบกับข้างที่ไม่มีการบาดเจ็บ ลองกดแล้วปล่อยดู ถ้าส่วนที่ซีดจากการกดคืน แดงอย่างรวดเร็วแสดงว่าไม่มีการทำลายของเส้นเลือด
3) ตรวจดูสภาพการทำงานของประสาทที่สำคัญ คือความรู้สึกตัว แขนขาชาไหม (ลองใช้เข็มแทงดูเบา ๆ ) ขยับได้หรือเปล่า
4) การบาดเจ็บต่ออวัยวะภายในต่าง ๆ ที่ได้ยกตัวอย่างมาไปแล้วข้างต้น ซึ่งเราจะต้องทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด จึงจะวินิจฉัยได้ครบถ้วน การบาดเจ็บเหล่านี้ มักเป็นเหตุให้เสียชีวิต ถ้าทำการรักษาช้าเกินไป เช่น หัวใจหรือปอดทะลุ ตับ ม้ามแตก กระเพาะปัสสาวะฉีก ลำไส้ขาด และช็อค เป็นลม หน้าซีด ตัวเย็น เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็วแต่เบา ความดันเลือดต่ำ เป็นต้น
เมื่อได้เข้าใจหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับกระดูกหักข้างต้นพอสมควรดังนี้แล้ว เราก็จะได้ลงมือรักษากันต่อไปในฉบับหน้า ตอกเสาเข็มให้แน่นก่อนสร้างตึก จึงจะมั่นคงแข็งแรงครับ
ก่อนจบฉบับนี้ ขอฝากสูตรของการรักษากระดูกหักไว้สักนิดว่า “กระดูกหักชิ้นหนึ่งให้คำนึงถึงทั้งตัว”

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ตับแข็ง

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

โดยทั่วไปคำว่า “ตับแข็ง” เป็นชื่อโรคชนิดหนึ่งของตับ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุหลายอย่าง เช่น เกิดจากเชื้อไวรัส เกิดจากสารซึ่งเป็นพิษต่อตับ ซึ่งรวมทั้งพิษจากสุรา ตับคนปกตินั้นจะมีน้ำหนักประมาณ 1,200 กรัม สีแดงคล้ำ ขอบและผิวเรียบ และเป็นทางผ่านของเลือดจากช่องท้องเข้าไปสู่หัวใจด้านขวา ในรายที่เป็นตับแข็ง ตับจะกลายเป็นเม็ดเล็ก ๆ ทั่วไป หมดบนผิวที่ขอบ และในเนื้อของตับเอง ถ้าคลำดูจะแข็งกว่าปกติมาก เนื่องด้วยแผลเป็นซึ่งมีอยู่ทั่วไปในตับ ทำให้ความดันในตับและเส้นเลือดที่ผ่านตับนั้นสูงกว่าปกติ
“สุรา” หรือแอลกอฮอล์ เมื่อมนุษย์ดื่มเข้าไป จะถูกเปลี่ยนแปลงและถูกทำลายพิษภายในตับ ให้ผลของการเปลี่ยนแปลงทางเคมี เป็นสารหลายอย่างเป็นขั้น ๆ ไป จนในที่สุดเป็นอณูของน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์และความร้อน และถ้ากินในขนาดสูง ตัวแอลกอฮอล์เองจะมีพิษโดยตรงต่อเซลล์ของตับ ทำให้เซลล์ของตับนั้นตาย และมีการอักเสบเกิดขึ้นในตับ ตลอดจนมีไขมันเข้ามาแทรกในเซลล์ของตับ อาจจะกล่าวง่าย ๆ คือ พิษของแอลกอฮอล์ต่อตับในคนที่ดื่มสุราเรื้อรังเป็นเวลานานแรมปีนั้น อาจจะแบ่งได้เป็น 3 ระยะด้วยกัน
1. ถ้าดื่มสุราในขนาดสูง เช่น ประมาณครึ่งขวดกลมแม่โขงต่อวัน เป็นเวลาติดต่อกันนานกว่า 5 ปีขึ้นไป ในระยะแรกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในตับเป็นภาวะที่เรียกว่า มันจุกตับ ตับจะมีขนาดโตกว่าปกติ แพทย์อาจคลำพบโดยการตรวจหน้าท้อง ตับจะมีสีเหลืองปนแดง เนื่องจากมีมีของไขมันซึ่งมีอยู่มากในเซลล์ของตับ ผู้ป่วยในระยะนี้อาจจะไม่มีอาการอันใดเลย ถ้าไม่ดื่มเหล้าอีกต่อไป ภาวะนี้ก็จะหายไป ตับก็จะเป็นปกติเหมือนเดิม
2. ถ้าดื่มสุราต่อไปเรื่อย ๆ บางคนจะกลายเป็นตับอักเสบเพราะพิษสุรา ผู้ป่วยพวกนี้จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้มกว่าปกติ เป็นสีเหลืองคล้ายน้ำปลา มีไข้ต่ำแทบทุกวัน มีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อาจเป็นนานเป็นแรมเดือนแรมปี บางรายอาจจะมีขาบวม คนไข้พวกนี้ถ้าไม่หยุดดื่มสุรา ต่อไปอาจเป็นโรคตับแข็งได้ แต่ถ้าผู้ป่วยหยุดดื่ม และได้รับการรักษาบำรุงด้วยยาต่าง ๆ แล้ว อาจกลับไปเป็นปกติและหายขาดจากโรคนี้ได้
3. ในกลุ่มผู้ป่วยซึ่งเป็นตับอักเสบจากพิษเหล้า และยังดื่มสุราอย่างมากเช่นนี้ต่อไป การอักเสบของตับก็จะมีต่อไปเรื่อย ๆ พิษของแอลกอฮอล์จะทำให้มีการตายของเซลล์ตับมากขึ้นทุก ๆ วัน เมื่อเซลล์ของตับตาย ต่อมาก็จะเกิดแผลเป็นขึ้น แผลเป็นมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ผลที่สุดตับก็จะขรุขระตะปุ่มตะป่ำด้วยแผลเป็น และกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด
ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งจากพิษสุรา จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง มีอาการบวมที่เท้า ท้องโต เนื่องจากเกิดมีน้ำในช่องท้องหรือที่เรียกว่า มานน้ำ บางรายจะมีตัวเหลือง ตาเหลือง กล้ามเนื้อลีบลง มีการเสื่อมทางความรู้สึกทางเพศ บางรายจะมีนมตั้งเต้าเหมือนนมสตรีเพศ อวัยวะเพศเหี่ยว บางรายจะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น มีน้ำในช่องปอด เนื่องจากผู้ป่วยบวมมากบางรายจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเนื่องจากมีการแตกของเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้นในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร เนื่องจากเลือดจากช่องท้องไม่สามารถผ่านตับที่แข็ง และเต็มไปด้วยพังผืดได้ จึงมีเส้นเลือดไปโป่งพองขึ้นในกระเพาะและหลอดอาหาร เมื่อความดันในช่องท้องสูงขึ้นจึงมีการแตกของเส้นเลือดเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมีภาวะแทรกซ้อนที่น่ากลัวอันตรายเป็นอย่างยิ่ง ผู้ป่วยบางรายจะมาหาแพทย์หรือมาโรงพยาบาลด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือดเป็นกระโถน ๆ ทำให้ญาติพี่น้องตกใจ และเป็นห่วงบางรายเสียเลือดมากกว่าจะมาถึงโรงพยาบาลก็เสียชีวิตไปก่อนก็มี การรักษาภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้ เป็นการรักษาอย่างรีบด่วนทันทีทันใด จะต้องให้เลือดแก่ผู้ป่วยเป็นจำนวนมากเท่าที่ผู้ป่วยเสียเลือดไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ อาการอาเจียนเป็นเลือดนี้น่ากลัวอันตรายมาก ในผู้ป่วยบางคน แพทย์ต้องทำการผ่าตัดด่วนเพื่อไปผูกเส้นเลือดขอดที่หลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร หรือทำการต่อเส้นเลือดให้เลือดไหลไปทางอื่น ไม่มาทางที่มีเส้นเลือดขอดอยู่ ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ สิ้นเปลืองและต้องอาศัยทีมของศัลยแพทย์มือดีที่สามารถทำการผ่าตัดเช่นนี้ได้
ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนที่มีน้ำในช่องท้องและท้องจะค่อย ๆ โตขึ้น ผู้ป่วยมักจะสังเกตว่าเท้าทั้งสองข้างบวมและพุงโตขึ้น ต้องตัดกางเกงใหม่บ่อย ๆ และบางรายก็มาหาแพทย์เมื่อท้องโตมากแล้ว การรักษาซึ่งเป็นการรักษาตามอาการส่วนมากแพทย์จะให้ยาขับปัสสาวะและงดเกลือหรืออาหารเค็ม การรักษากินเวลานาน และเป็นการรักษาแบบประคับประคอง มิได้เป็นการรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยบางรายก็มีน้ำในท้องอยู่เป็นแรมปี การรักษามีหลายวิธีการ รวมทั้งการให้สารแอลบูมินทางเส้นเลือดเป็นระยะ ๆ แต่ผลมักไม่เป็นที่พอใจของแพทย์ผู้รักษาและคนไข้ ทั้งนี้อาการบวมและมีน้ำในท้องมักเกิดขึ้นในระยะท้าย ๆ ของโรคตับแข็ง ซึ่งมีสาเหตุใหญ่เนื่องมาจากตับไม่สามารถจะสังเคราะห์สารโปรตีนในเลือดได้เพียงพอ ภาวะแทรกซ้อนอีกอย่างหนึ่งในโรคตับแข็งระยะหลังก็คือ อาการเหลืองหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ดีซ่าน ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากมีการทำลายของเซลล์ของตับมาก และมีแผลเป็นมาอุดกั้นทางเดินน้ำดีเล็ก ๆ ภายในเนื้อตับ ผู้ป่วยอาจจะเริ่มต้นด้วยมีคนทักว่าตัวเหลืองหรือตาเหลืองเหมือนเอาขมิ้นมาทาตัว บางรายอาจจะมีอาการคันตามตัว เนื่องจากมีน้ำดี และกรดน้ำดีคั่งตามผิวหนังรบกวนต่อประสาทฝอยที่อยู่ผิวหนัง อาการเหลืองและอาการคันนี้เป็นเรื่องทรมานผู้ป่วยในบางรายมาก อาการเหลืองจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นทีละน้อย จึงทำให้ผิวหนังผู้ป่วยมีสีคล้ำ ดำมากขึ้น อาการทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมาแล้วคือ อาการอาเจียนเป็นเลือด มีน้ำในท้อง อาการตัวเหลือง ทางแพทย์ว่าเป็นอาการของภาวะตับวาย หรือ ตับหมดสภาพในการทำงาน เมื่อเป็นมากเข้า จะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่าโคม่า คือผู้ป่วยจะค่อย ๆ มีอาการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและความรู้สึก จะมีอาการซึมหรือเพ้อเอะอะ บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป อาจจะทำสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น ปัสสาวะเรี่ยราด เซ็นชื่อด้วยตัวเองไม่ได้ มือสั่น หลงเลอะเลือน แปรงฟันหวีผมไม่ได้ต่อมาอาจไม่ทราบกาลเวลาและสถานที่ที่ตัวอยู่จะค่อย ๆ ซึมเข้า ๆ หมดสติไม่รู้ตัว เข้าสู่ระยะโคม่า และถึงแก่กรรมไปในที่สุด เมื่อมีระยะนี้แล้วการรักษาจะยากและอัตราตายสูง
ท่านผู้อ่านทุกท่าน คงจะทราบผลของเหล้าต่อตับเป็นอย่างไรในบทความนี้ คนดื่มเหล้าถ้าดื่มแต่เล็กน้อย บางครั้งบางคราวก็มีประโยชน์ในด้านสังคม และเป็นยาเจริญอาหาร ช่วยละลายไขมันอย่างหนึ่ง แต่ถ้าดื่มมากเป็นประจำ เนืองนิตย์ติดต่อกันก็จะเป็นผลร้ายแรงต่อร่างกาย ทำให้เกิดโรคตับแข็งและอื่น ๆ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ร้ายแรงต่ออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายมากมาย จึงควรถือคำของพระพุทธองค์เป็นสรณะนั่นคือ มัชฌิมาปฏิปทา การดำเนินทางสายกลางย่อมไม่เกิดอันตรายต่อตัวเราเอง

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ยาขับพยาธิ

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ยาขับพยาธิ
โรคพยาธิเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมากถึงกว่า 20 ล้านคน เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ใหญ่มากปัญหาหนึ่งของประเทศ
โรคพยาธิเดี่ยว ๆ นั้นไม่ทำให้คนเราถึงตายได้ แต่ก็ทำให้เลี้ยงไม่โต เวลาเราพบคนที่กินจุ แต่ร่างกายกลับผอม ไม่อ้วนท้วนแข็งแรงเท่าที่ควร เราก็มักจะตั้งข้อสงสัยไว้ว่าคน ๆ นั้นน่าจะมีพยาธิในตัวมากมายพอสมควรคอยช่วยกินอาหารที่คน ๆ นั้นกินเข้าไป จนไม่เหลืออะไรไว้ให้ เจ้าตัวจึงผอมลง ๆ ความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้นับว่ามีเหตุผลอยู่พอสมควร เพราะโรคพยาธิเป็นโรคที่บ่อนทำลายสุขภาพของคนเรา ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดอาหาร โลหิตจาง คลื่นไส้ อาเจียน ท่อน้ำดีอุดตัน ลำไส้อุดตัน ท้องเดิน อุจจาระเป็นมูกเลือด ซีด อ่อนเพลีย ไอ เป็นผื่นคันคล้ายลมพิษ และพยาธิบางชนิดก็เป็นอันตรายมาก เพราะอาจทำให้ตาบอดได้ ถ้าไชเข้าไปอยู่ในตา
พยาธิเป็นกาฝากในร่างกายของคนเรา มีรูปร่างโดยทั่วไปดูคล้ายหนอน พอจะแบ่งตามรูปร่างได้ 2 พวกใหญ่ ๆ คือ
1. พยาธิตัวกลม รูปร่างกลม ขนาดใหญ่เล็กขึ้นกับว่าจะเป็นพยาธิชนิดไหน ตัวอย่างเช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นดาย พยาธิปากขอ พยาธิ แส้ ม้า ฯลฯ
2. พยาธิตัวแบน มีรูปร่างแบน ๆ เช่นพยาธิใบไม้ บางชนิดติดต่อกันเป็นปล้อง ๆ เช่น พยาธิตัวตืด
โรคพยาธิส่วนมากเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้โดยใช้ยา ยกเว้นโรคพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิตัว-จี๊ด พยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มียาที่ให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ สำหรับโรคพยาธิซึ่งรักษาให้หายได้โดยการใช้ยานั้น นอกจากการใช้ยาแล้ว ยังต้องป้องกันการติดโรคพยาธิใหม่ด้วย จึงจะหายขาดได้
ยาถ่ายพยาธิที่มีขายตามท้องตลาด มีมากมายหลายชนิด เช่น
1. ยาถ่ายพยาธิขององค์การเภสัชกรรม หรือยาถ่ายพยาธิปิเปอราซีน (Piperazine Citrate Elixir) ยานี้ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม เช่น พยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน ฯลฯ
1.1 สำหรับถ่ายพยาธิไส้เดือน หรือพยาธิตัวกลม ให้กินเพียงครั้งเดียว
- เด็กที่มีน้ำหนักเกิน 20 กิโลกรัมและผู้ใหญ่ให้กินครั้งเดียว 2 ช้อนโต๊ะ (หรือ 1 ขวดบรรจุ 30 มิลลิลิตร) ก่อนอาหารเย็น
- เด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 20 กิโลกรัม ให้กินครั้งเดียว 5 ช้อนชา
1.2 สำหรับถ่ายพยาธิเส้นด้าย หรือพยาธิเข็มหมุด ต้องกินติดต่อกัน 7 วัน ขนาดยาที่ใช้ขึ้นกับอายุ
เด็ก 9 เดือน- 2 ขวบ ให้กินครั้งละ 1/2 (ครึ่ง) ช้อนชาวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-เย็น ติดต่อกัน 7 วัน
เด็ก 2-4 ขวบ กินครั้งละ 1/2 (ครึ่ง) ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารติดต่อกัน 7 วัน
เด็ก 4-6 ขวบ กินครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น ติดต่อกัน 7 วัน
เด็ก 6-12 ขวบ กินครั้งละ 1 (หนึ่งช้อนชาครึ่ง) วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-เย็น ติดต่อกัน 7 วัน
เด็กอายุมากกว่า 12 ขวบและผู้ใหญ่กินครั้งละ 2 ช้อนชา วันละ 2 ครั้งหลังอาหาร เช้า-เย็น ติดต่อกัน 7 วันโดยปกติแล้ว การใช้ยาถ่ายพยาธิ ดังนี้ ไม่จำเป็นต้องกินยาถ่ายก่อนหรือหลังกินยา แต่ถ้าท้องผูก ก็ให้ยาถ่ายพยาธินี้ ก่อนแล้วให้กินยาถ่ายพวกดีเกลือในวันรุ่งขึ้น
ยาตัวนี้มีพิษและฤทธิ์ข้างเคียงน้อยมาก แต่ถ้าให้ยาขนาดสูงไปหรือบางคนที่ทนยาไม่ได้ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว ชัก กล้ามเนื้อไม่มีแรง ความรู้สึกสัมผัสผิดปกติได้ อาการผิดปกติเหล่านี้จะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ควรลองลดขนาดยาดู ถ้ายังกินยาไม่ได้อีก ก็ให้หยุดยาแล้วปรึกษาแพทย์

ยาถ่ายพยาธิขององค์การเภสัชกรรม ขนาดจุ 30 ซี.ซี. ราคาขวดละ 2.50 บาท
ยาชนิดอื่น ๆ ที่เป็นยาถ่ายพยาธิปีเปอราซีน เช่น แอนตี้พาร์ (Antipar) ปิเปอร์ซิลไซรับ (Pipersil Syrup)

2. คอมแบนตริน (Combantrin)
ใช้ขับพยาธิตัวกลม เช่น พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย มีทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำยาแขวนตะกอน ชนิดเม็ดจะมีตัวยา 125 มิลลิกรัมต่อเม็ด ชนิดน้ำมีตัวยา 50 มิลลิกรัมต่อ มิลลิลิตร ถ้ากินยานี้ครั้งเดียว โดยคิดขนาดยาจากน้ำหนักตัวคือ ใช้ยา 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ตัวอย่าง การคิดขนาดยา เช่น เด็กหนัก 25 กิโลกรัม ต้องกินยา = 25 10 = 250 มิลลิกรัม ดังนั้น อาจให้ยาเม็ด 2 เม็ด หรือยาน้ำ 5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
การใช้ยายาน้ำแขวนตะกอน ต้องเขย่าขวดให้ตัวยากระจายดีทั่วก่อน
ยาเม็ดคอมแบนตริน ราคาเม็ดละ 3 บาท , ชนิดน้ำ ขวดละ 10 ซี.ซี. ราคา 15 บาท , 60 ซี.ซี. ราคา 66 บาท
ยาชนิดอื่น ๆ เช่น แบนเตล (Bantel tablet , Syrup)
3. ดีคารีส (Decaris)
ใช้ขับพยาธิตัวกลม มี 2 ขนาด คือ ยาเม็ดสำหรับเด็ก ขนาดเม็ดละ 50 มิลลิกรัม และสำหรับผู้ใหญ่ ให้ใช้ขนาด เม็ดละ 150 มิลลิกรัม และกินยานี้แล้วไม่จำเป็นต้องกินยาถ่าย
ขนาดยาที่ใช้สำหรับเด็ก ให้ปรับจากน้ำหนักตัว คือ ใช้ยา 2.5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว เช่น
เด็กหนัก 20 กิโลกรัม ก็ต้องกินยา 2.5 20 = 50 มิลลิกรัม คือกินดีคารีส สำหรับเด็ก 1 เม็ด

สำหรับผู้ใหญ่ ให้กินยาเม็ดขนาด 150 มิลลิกรัม 1 เม็ด ครั้งเดียว
4. ฟูกาคาร์ (Fugacar)
ที่ใช้ขับพยาธิตัวกลม ยาแต่ละเม็ดประกอบด้วยตัวยา 100 มิลลิกรัม (ราคาเม็ดละ 3 บาท) ให้ใช้ยานี้ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกัน 3 วัน อาจเคี้ยวยาหรือกลืนยาทั้งเม็ดก็ได้ แต่ต้องระวัง คือ ไม่ควรใช้ยานี้ ในสตรีที่เริ่มตั้งครรภ์ ในช่วง 3 เดือนแรก
แต่ถ้าใช้ถ่ายพยาธิตัวตืด ให้ใช้ยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น ติดต่อกันนาน 4 วัน
5. โยมีแซน (Yomesan Tablet)
เป็นยาถ่ายพยาธิตัวตืด ซึ่งเป็นพยาธิตัวแบน (ราคาเม็ดละ 5.05 บาท) ขนาดยาที่ใช้ ดังนี้)
เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ให้กิน 1 เม็ด
เด็กอายุ 2-6 ขวบ กิน 2 เม็ด
เด็กอายุมากกว่า 6 ขวบและผู้ใหญ่ กิน 4 เม็ด
การกินยานี้ ควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน อาจให้ยาถ่าย เช่น ดีเกลือ หลังกินยาถ่ายพยาธิแล้ว 2 ชั่วโมง หรือไม่กินยาถ่ายก็ได้ ถ้ากินยาถ่ายด้วย จะพบพยาธิถูกขับออกมาด้วย แต่ถ้าไม่กินยาถ่าย เพื่อขับพยาธิที่ตายออกมา พยาธิที่ตายแล้ว จะถูกย่อยละลายไป
ยาชื่ออื่นที่เป็นยาชนิดเดียวกัน เช่น ยาเม็ดเทลมิติน (Telmitin Tablet) ยาเม็ดเทปาไซด์ (Tepacide Tablet)

นอกจากยาต่าง ๆ ที่ได้ยกมากล่าวแล้ว ยาสมุนไพรที่ใช้ถ่ายพยาธิได้ เช่น
1. มะเกลือ ใช้ขับพยาธิปากขอในเด็ก โดยใช้ผลมะเกลือที่มีสีเขียว 1 ผลต่ออายุ 1 ปี อย่างมากที่สุด
ให้กินไม่เกิน 20-25 ผล ตำคั้นน้ำ ใช้น้ำที่คั้นได้ผสมกับหัวกะทิ ให้กินตอนเช้ามืด ห้ามใช้ผลแก่
2. ปวกหาด เป็นสมุนไพรที่ได้จากการนำเปลือกของต้นมะหาด มาป่นเป็นผง ใช้ขับพยาธิตัวตืด ให้
ใช้ผงยา 5 กรัม ละลายน้ำเย็น กินตอนเช้ามืดสองชั่วโมงต่อมาก็กินยาถ่ายตาม
การใช้ยาถ่ายพยาธิ จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อ ผู้ป่วยโรคพยาธิรู้จักป้องกันไม่ให้มีการติดโรคพยาธิใหม่อีก โดย :-


1. ถ่ายอุจจาระลงในส้วม



2. ต้องรักษาความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้า ควรล้างมือก่อนกินอาหาร ตัดเล็บให้สั้น เพราะไข่พยาธิ อาจติดเล็บและเข้าสู่ร่างกายทางปากได้




3. สวมรองเท้า เพราะพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิปากขอสามารถไชผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้

 

 

 


4. ควรกินอาหารที่สุกแล้ว ไม่ควรกินอาหารดิบ ๆ สุก ๆ เพราะอาจมีพยาธิหรือไข้พยาธิอยู่




5. ถ้าชอบกินผักสด ต้องล้างให้สะอาดด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 2-3 ครั้ง


 

 

 

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 4)

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ก. การตรวจร่างกายทั่วไป (ต่อ)

การตรวจร่างกายทั่วไปของผู้ป่วย นอกจากจะประกอบด้วยการสังเกตกิริยาท่าทาง รูปร่าง และหน้าตา ดังที่ได้กล่าวถึงในฉบับก่อน ๆ แล้ว ยังประกอบด้วยการตรวจอีกหลายอย่าง เช่น

4. ผิวพรรณ

ผิวพรรณของคนปกติย่อมแตกต่างกันได้แล้วแต่เชื้อ ชาติ เชื้อพันธุ์ เพศ อายุ และสิ่งแวดล้อม เช่น คนนิโกร จะมีผิวดำ แขก อินเดียหรือมาเลเซียจะมีผิวค่อนข้างดำ (น้ำตาลแก่) คนที่ทำงานตากแดดตากลมมาก ๆ หรือนาน ๆ จะมีผิวดำกว่าคนที่ไม่ได้ตากแดดตากลม คนฝรั่งจะมีผิวขาว (อมชมพู) คนจีนจะมีผิวขาวเหลือง เป็นต้น
หญิงจะมีผิวละเอียดและนุ่มนวลกว่าชาย เด็กจะมีผิวอ่อน ละเอียด นุ่มนวลกว่าผู้ใหญ่ คนสูงอายุจะมีผิวเหี่ยว ย่น หยาบ และเต็มไปด้วยไฝฝ้า มากกว่าคนหนุ่มสาว
จึงต้องหัดสังเกตลักษณะ ผิวพรรณของคนปกติไว้จนสามารถบอกได้ว่า ผิวพรรณเช่นนี้ใช่หรือไม่ใช่ลักษณะปกติของคนเชื้อชาตินี้เชื้อพันธุ์นั้น หรือสำหรับเพศ อายุ อาชีพ และสิ่งแวดล้อมแบบนั้นแบบนี้ เช่น

4.1 สีของผิวหนัง เช่น
o ก.สีขาว
ถ้าเห็นผิวพรรณของคนไทยคนหนึ่งเป็นสีขาว (อมชมพู) ก็ทำให้รู้ว่าเป็นผิวพรรณที่ผิดปกติสำหรับคนไทย โดยทั่วไปมักจะพบเป็นโรคหรือภาวะคนเผือก (albinism) ซึ่งพบได้ในคนทุกชาติ และในสัตว์ เช่น ควาย เผือก ลิงเผือก เป็นต้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเชื้อพันธุ์ (gene) ทำให้สีดำของผิวหนัง ผม และม่านตาหายไป จึงเห็นผิวหนังเป็นสีขาว ผมเป็นสีทอง หรือน้ำตาลอ่อน และตาดำเป็นสีฟ้า
การขาดสีดำ (melanin pigment) เช่นนี้ จะทำให้สู้แดดไม่ค่อยได้ เช่น เวลาออกสู่แสงแดด จะเคืองตา ผิวหนังจะทนแดดไม่ค่อยได้ คนเผือก จึงไม่ควรออกไปสู่ที่ที่มีแดดจัดโดยปราศจากร่ม หมวก หรือ เสื้อผ้าที่สามารถป้องกันแดดได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือวิธีรักษาอื่นใด ถึงใช้ก็จะไม่ช่วยให้หายจากภาวะเผือกได้
การขาดสีดำ อาจจะพบในโรคหรือภาวะด่างขาว (vitiligo) ที่เป็นมาก ๆ จนด่างขาวนั้นติดกันเป็นพืด ทำให้หน้าตาขาวเหมือนคนเผือกได้ แต่ผิวหนังบางส่วนที่หน้าหรือคอหรือตามส่วนอื่นของร่างกายจะยังคงเป็นสีดำอยู่ ตาและผมก็อาจจะไม่เป็นด่างขาว จึงยังคงมีสีดำอยู่ ยังไม่มีวิธีรักษาภาวะด่างขาวที่ได้ผลดี ถ้ามีปัญหาทางด้านความสวยงาม อาจใช้วิธีสักผิวหน้าที่เป็นด่างขาวให้เป็นสีน้ำตาลเหมือนสีของผิวหนัง โดยเฉพาะในกรณีที่ด่างขาวนั้นทำให้แลดูไม่สวยงามหรือเกิดปัญหาทางด้านจิตใจขึ้น
อนึ่ง ถ้าผิวพรรณเป็นสีขาวซีด หรือขาวเหลือง ริมฝีปากและลิ้นขาวซีดแสดงว่าเป็นโรคเลือดน้อย เลือดจาง หรือโลหิตจาง ซึ่งมักจะเกิดจากการขาดธาตุเหล็กหรือขาดเลือด ให้กินตับหมู ตับวัว ตับเป็ด ตับไก่ ผักใบเขียว หรือยาบำรุงเลือด (เฟอร์รัส ซัลเฟต) วันละ 1-3 เม็ด หลังอาหาร (กินแล้ว อุจจาระจะดำ ไม่ต้องตกใจ) จะทำให้หายจากโรคเลือดน้อย หรือโรคเลือดจาง และผิวพรรณจะหายขาวซีดได้
o ข.สีแดง
ถ้าเห็นผิวพรรณของคนคนหนึ่งแดงจัด โดยเฉพาะใบหน้าที่แดงจัด ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุ เช่น
ข.1 เลือดขึ้นหน้ามาก เช่น เวลาโกรธ เวลากินเหล้า ของเมา หรือยาบางชนิด
ข.2 ผิวหน้าเปลี่ยนสีไป เช่น หลังถูกแดดจัดใหม่ ๆ
ข.3 ผิวหนังเป็นผื่นแดง เช่น เวลาเป็นหวัด เป็นไข้อีดำอีแดง (scarlet fever) หรืออื่น ๆ
ข.4 เลือดแดงมากเกินไป (erythrocytosis หรือ polycythemia) ซึ่งอาจเกิดจากโรคปอด โรคหัวใจ หรือไม่รู้สาเหตุ หรืออื่น ๆ
ข.5 เครื่องสำอางที่ทาไว้
ข.6 สีของเลือดเปลี่ยนไป เช่น ในกรณีที่หายใจเอาก๊าซคาร์บอนโมน็อกไซด์ เช่น จากก๊าซหุงต้ม ก๊าซจากท่อไอเสียรถยนต์ ทำให้เลือดกลายเป็นสีแดงจัด และนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่ได้ ทำให้เกิดอาการอึดอัด หายใจลำบากและเป็นลมหมดสติได้
o ค. สีดำ
ผิวพรรณของคนนั้นอาจจะดำจากเชื้อชาติ เชื้อพันธุ์ หรือเป็นรอยด่างดำจากแผลเป็นหรือหลังจากที่เป็นผื่นแดง เช่น หลังออกหัด ควรจะสังเกตลักษณะของผิวหนังแต่ละประเภทให้ดีเพราะจะทำให้บอกได้ว่าลักษณะดำอย่างไหนปกติ อย่างไหนผิดปกติ เพราะลักษณะผิวพรรณที่ดำบางอย่างจะบอกถึงโรคตับ โรคไต โรคต่อมหมวกไต โรคขาดอาหาร หรืออื่น ๆ ได้ (ดู เรื่อง หน้าดำ ใน “มาเป็นหมอกันเถิด” ใน หมอชาวบ้าน ประจำเดือนเมษายน 2523)
o ง. สีเหลือง
คือผิวพรรณที่ดูเหลืองกว่าปกติ ซึ่งนอกจากจะเกิดจากเครื่องสำอางและสิ่งประเทืองผิว (เช่น ขมิ้นแล้ว) อาจเกิดจากการกินผลไม้ที่มีสีเหลืองจัด เช่น ฟักทอง หรือสีแดง เช่น มะละกอ หัวผักกาดแดง เข้าไปมากๆ หรือในคนที่ไม่ค่อยถูกแดดหรือซีดซึ่งจะทำให้ผิวดูแลขาวเหลืองกว่าปกติ ซึ่งใน 3 ภาวะดังกล่าวข้างต้น ตาขาวจะไม่แลดูเหลืองไปด้วย
แต่ในภาวะดีซ่าน นอกจากผิวพรรณจะเหลืองแล้ว ตาขาวจะเหลืองด้วย และปัสสาวะจะเป็นสีชาแก่ สีเหลืองจัด สีส้ม หรือคล้ายสีน้ำปลาก็ได้
4.2 ลักษณะของผิวหนัง
เด็กจะมีผิวที่อ่อนนุ่ม ละเอียด ละมุนละไม เมื่ออายุมากขึ้น ผิวก็จะหยาบมากขึ้น จนเมื่อย่างเข้าวัยชรา ผิวหนังจะหยาบย่นและมีไฝฝ้ามากขึ้น ลักษณะของผิวหนังนอกจากจะขึ้นกับอายุแล้ว ยังขึ้นกับเพศ เชื้อพันธุ์ อาชีพ และสิ่งแวดล้อม จึงควรจะสังเกตลักษณะผิวพรรณปกติของคนต่างๆ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เมื่อเจอลักษณะที่ผิดปกติ จะได้สังเกตเห็นทันที เช่น
o ก. ผิวละเอียดมาก
ผู้ใหญ่ที่มีผิวละเอียดมากเหมือนเด็ก โดยเฉพาะที่หลังแขนส่วนที่ถูกแดด ผิวที่ละเอียดนี้มักจะเรียบและอาจจะขึ้นด้วยเหงื่ออุ่น ๆ ผิวที่ละเอียดมากเช่นนี้มักจะเกิดในภาวะคอพอกเป็นพิษ (ต่อมธัยรอยด์ทำงานมากเกินไป) ถ้าผู้ป่วยมีลักษณะ “หน้าดุ” (ดูเรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” ในหมอชาวบ้าน ประจำเดือนมีนาคม พ .ศ. 2523 ด้วย ก็แสดงว่าเป็นภาวะคอพอกเป็นพิษแน่
o ข. ผิวหยาบแห้ง มักจะเป็นในคนที่ขาดอาหารและน้ำ หรือในโรคอื่น เช่น โรคต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (ผู้ป่วยจะมีลักษณะหน้า “ฉุ” และเสียงแหบซ่าด้วย)
o ค. ผิวมัน แต่ลักษณะอื่นปกติ มักเกิดจากต่อมไขมันทำงานมาก เช่น ในบางเชื้อพันธุ์ ในวัยแตกเนื้อหนุ่มสาว ทำให้เกิดสิว หรือเม็ดตุ่ม (สิว) บริเวณหน้า หน้าอก และแผ่นหลังได้ง่าย
o ง. ผิวมันและบาง เวลาจับต้องเหมือนจับเยื่อกระดาษบาง ๆ ที่จะฉีกขาดง่าย อาจเกิดจากการขาดอาหาร โรคภูมิแพ้บางอย่าง หรือโรคผิวหนังบางชนิด
o จ. ผิวแข็งเรียบ อาจเกิดจากการขาดอาหาร น้ำ และเกลือแร่ เช่นในเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ท้องเดินเรื้อรัง หรืออาจเกิดจากโรคภูมิแพ้บางอย่าง อาจทำให้ใบหน้าเรียบ ไม่มีรอยย่น จับผิวหนังที่ใบหน้าหรือต้นแขนจะแข็งและยกขึ้น (หยิก) ไม่ได้ถนัด

4.3 ความสะอาดของผิวพรรณ

ทำให้เราทราบถึงอาชีพ นิสัยใจคอ และบางครั้งถึงเทือกเถาเหล่ากอของคนไข้ได้
4.4 ลักษณะผิดปกติอื่น ๆ เช่น
o ก. ปาน เช่น ปานแดง ปานดำ ปานน้ำตาล ปานบางชนิดทำให้นึกถึงโรคภายในร่างกายได้ เช่น คนที่มีปานดำที่หน้าซีกใดซีกหนึ่ง อาจจะมีความผิดปกติของเส้นเลือดในสมองซีกนั้นได้ คนที่มีปานสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอ่อนหลาย ๆ แห่งในร่างกายอาจพบร่วมกับโรคท้าวแสนปม (neurofibromatosis) โรคตุ่มหรือติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (polyposis of colon) หรืออื่น ๆ
o ข. ไฝ ฝ้า ขี้แมลงวัน ตกกระ และอื่น ๆ ซึ่งมักจะไม่มีอันตราย และเป็นไปตามอายุ เชื้อพันธุ์ หรือสิ่งแวดล้อม
o ค. ผด ผื่น แผล พุพอง และโรคผิวหนังอื่น ๆ ซึ่งต้องฝึกสังเกตจากของจริงเป็นประจำ จะทำให้สามารถแยกชนิดของสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นบนผิวหนังได้
รูปอาจจะช่วยได้บ้าง (ดังรูปที่แสดงไว้) แต่มักจะไม่สามารถถ่ายทอดความผิดปกติเหมือนที่เห็นด้วยตาได้
รูปที่ 1  เด็กเผือก

รูปที่ 2   โรคด่างขาว

รูปที่ 3    คนทางซ้ายมีอาการหน้าแดง จากเลือดแดงมากเกินไป

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รำมะนาด

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

รำมะนาด

1.ครูวิชัยเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดกรวตในอำเภอ มาหลายปีแล้ว ครูวิชัยทำงานด้วยความราบรื่นมาตลอด จนเมื่อปีที่แล้วนี่เอง ครูวิชัยเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับบุคลิกภาพ เพราะนักเรียนหรือแม้แต่เพื่อนครูด้วยกันมักล้อ “ฟันครูยาวเหมือนฟันม้า

 



2 .ครูเองก็กลุ้มใจ ทั้งจากที่ถูกนักเรียน และเพื่อน ๆ ล้อแล้ว ฟันของครูก็ยังโยกคลอนไปทั้งปาก วันดี คืนดีก็บวมตุ่ย เกิดมีหนอง แล้วก็ปวด แสนจะทรมาน ทำให้ครูหงุดหงิด ไม่ร่าเริงเหมือนแต่ก่อน การสอนก็แย่ลง
3 .วันนี้ครูวิชัยต้องหยุดสอนครึ่งวันเพื่อมาปรึกษาหมอตุ๋ย

 



4 .ครูวิชัย : คุณหมอครับ ช่วยดูฟันผมหน่อยมันโยกคลอนไปทั้งปาก ซี่ในสุดด้านขวาตอนนี้บวม ปวดตุ๊บ ๆ ตลอด
หมอตุ๋ย : ขอผมตรวจหน่อยซิครับ

 

 

 



5 หมอ : ครูเป็นโรคปริทันต์นะครับ โรคนี้ชาวบ้านเรียกว่า โรครำมะนาด”
ครู : อ๋อ ! ผมเคยได้ยิน เอ แต่มันเป็นกับคนแก่ไม่ใช่หรือครับ
หมอ : ไม่จริงหรอกครับ โรคนี้เป็นได้กับคนทั่วไป คนหนุ่มอย่างครูก็เป็นได้
ครู : วันนี้ผมมีคนไข้ไม่กี่คน ก่อนจะรักษา ผมขอเล่าเรื่องโรคนี้ให้ฟัง

 

 


6 “ปกติฟันคนเราจะฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร โดยมีเนื้อเยื่อยึดพันให้ติดกับกระดูกขากรรไกรอีกที ส่วนบนก็จะมีเหงือกปกคลุมอยู่ โดยคลุมที่คอฟัน โรครำมะนาดนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากมีสิ่งรบกวนอยู่รอบ ๆ ซี่ฟัน เช่น เศษอาหาร แผ่นคราบฟัน หินน้ำลายหรือที่เรียกว่าหินปูนเกาะที่ฟัน และขอบเหงือก หรือฟันปลอมที่ไม่ดี สิ่งเหล่านี้จะทำให้เหงือกอักเสบ



7 และเมือกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา โรคก็จะลุกลามมากขึ้น ทำให้กระดูกที่รองรับพันละลายไปเกิดการอักเสบของเยื่อยึดฟันกับกระดูก ทำให้ฟันโยกคลอน เหงือกอักเสบ เหงือกล่น ฟันจึงแลยาว ฟันซี่นั้นก็อาจหลุดได้ หรืออาจจะเกิดเป็นถุงหนองในเหงือก ทำให้เหงือกบวม ปวด

 



8. ส่วนที่ครูถามว่า โรคนี้เป็นเฉพาะในคนแก่นั้นไม่ใช่หรอก จริงอยู่ในคนแก่นั้น กระดูกรองรับรากฟันจะละลายไปบ้างตามสังขาร แต่ถ้ารักษามาดี ฟันก็จะแน่นไม่โยก แต่ในบ้านเราคนแก่ชอบกินหมาก จึงมักมีหินปูนเกาะติดที่ฟัน มีคราบหมากเกาะสกปรก จึงมักเกิดโรคนี้ได้ง่าย
9 .โรคนี้เป็นแล้ว ครูอาจเสียฟันหลายซี่ ไม่เหมือนโรคฟันผุ ครูอาจเสียฟันเพียงซี่เดียว ด้วยเหตุนี้ถ้าเป็นต้องรีบรักษา การรักษาก็กำจัดที่สาเหตุ โดยขูดหินปูน กำจัดสิ่งกระตุ้นรอบ ๆ ฟันออก แล้วครูต้องแปรงฟันให้สะอาด การแปรงฟัน ถือว่าเป็นหัวใจของการรักษาโรคนี้ เพราะถึงผมขูดหินปูน ขัดฟันให้ครูแล้วแต่ครูยังรักษาความสะอาดปากไม่ดี ก็จะเกิดมีหินปูน คราบฟัน ขึ้นอีก ครูก็จะเป็นอีก

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

อาการกดเจ็บ ตรงจุดไส้ติ่ง

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

อาการกดเจ็บ ตรงจุดไส้ติ่ง
คุณหมอครับ ผมมีอาการปวดท้องมาตั้งแต่เย็นวานนี้แล้ว ทีแรกรู้สึกปวดตรงรอบ ๆ สะดือ ไปหาหมอ หมอบอกว่าเป็นโรคกระเพาะ ให้ยาลดกรด แก้โรคกระเพาะมากิน ก็ไม่เห็นได้ผล มันปวดทรมาน จนไม่ได้นอนเลยตลอดคืน อาการปวดตอนหลังนี้มันย้ายมาตรง ท้องน้อยข้างขวา เวลาขยับตัว หรือลุกเดิน จะรู้สึกเจ็บปวด มาก ถ้านอนนิ่ง ๆ ก็รู้สึกค่อยยังชั่ว คุณหมอครับ อาการปวดท้องแบบนี้ใช่เป็นโรคไส้ติ่งอักเสบหรือเปล่าครับ ?”
คุณผู้อ่านครับ ถ้าหากคุณหรือคนที่อยู่ใกล้ชิดคุณมีอาการปวดและเจ็บตรงท้องน้อยข้างขวาแบบนี้ อาการปวดนั้นมีความรุนแรงชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และเป็นติดต่อกันหลายชั่วโมง ก็ขอให้สงสัยว่า เจ้าโรคไส้ติ่งอักเสบกำลังถามหาได้เลยครับ
บางคนอาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ใช้ปรอทวัดไข้ดู อาจพบว่ามีไข้ต่ำ ๆ (ประมาณ 38 องศาเซลเซียส มักไม่เกิน 38.5 องศาเซลเซียส)
บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
ถ้าให้คนเจ็บแลบลิ้นยาว ๆ จะเห็นลิ้นเป็นฝ้าขาว
เรามีวิธีตรวจง่าย ๆ แบบชาวบ้าน ๆ เรา คือ ให้คนเจ็บนอนหงาย แล้วใช้มือกดลงตรงบริเวณท้องน้อยข้างขวา โดยเฉพาะตรงจุดไส้ติ่ง (รูปที่..2 ..) ถ้าคนเจ็บรู้สึกเจ็บตรง บริเวณที่กดจนบางคนหน้าเบ้ (รูปที่.. 3...) หรือร้องโอย หรือปัดมือที่กดออก ก็น่าจะนึกถึงโรคไส้ติ่งอักเสบให้มากที่สุด
หากสงสัยว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ ทางที่ดีควรหาหมอเสียแต่เนิ่น ๆ ถ้าหมอตรวจว่าเป็นโรคนี้จริง จะได้ทำการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นการผ่าตัดที่ง่ายและปลอดภัยมาก สามารถทำตามโรงพยาบาลใกล้ ๆ บ้านท่าน (เช่นโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด) ได้แทบทุกแห่ง
โรคนี้มีข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ต้องได้รับการผ่าตัด ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ที่เป็น หากปล่อยไว้เนิ่นนาน มัวแต่รักษากันเอง หรือใช้อะไรมาพอกมาสูญแบบพื้นบ้าน จนกระทั่งไส้ติ่งที่อักเสบนั้นเน่า และแตกมีหนองลามไปทั่วท้อง ก็จะเกิดความยุ่งยากแก่การรักษา เสียเงิน เสียเวลา และเสี่ยงต่อชีวิตโดยใช่เหตุ

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การตรวจร่างกาย (ตอนที่3)

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ก. การตรวจร่างกายทั่วไป (ต่อ)
ในการสังเกตหน้าตาของคนไข้ นอกจากจะสังเกตลักษณะของหน้าและสีของหน้าดังที่ได้กล่าวถึงในฉบับก่อนแล้ว ถ้าต้องสังเกต “สีหน้า” ของคนไข้อีกด้วย
3.12  “สีหน้า” คือ การแสดงออกทางอารมณ์ที่หน้าตาของคนไข้ การแสดงออกทางอารมณ์ที่หน้าตาของคนไข้ จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้เป็นอย่างดี และช่วยให้การตรวจรักษาต่อไปถูกทางยิ่งขึ้น
ก. หน้าบูดหน้าบึ้ง แสดงว่าคนไข้กำลังไม่สบายใจ กำลังโกรธ เพราะถูกคนขัดใจ หรือเกิดความไม่สมหวัง (ความผิดหวัง) การตรวจรักษาต่อไป จึงควรจะสอบถามจะโดยทรงตรงหรือทางอ้อมก็ตาม ถึงสาเหตุที่ทำให้คนไข้ไม่สบายใจ และหากได้ช่วยแก้ไขได้
ถึงจะช่วยแก้หาสาเหตุไม่ได้เลย เช่น สามีไปมีภรรยาใหม่ อย่างน้อยการพูดคุยกับคนไข้ในเรื่องนี้ ก็จะช่วยให้คนไข้ได้ระบายความคับแค้นในจิตใจของตนออก ทำให้คนไข้สบายใจขึ้น
ข. หน้ากังวล หน้าเครียด หน้าหงุดหงิด หน้าเศร้า แสดงว่าคนไข้กำลังไม่สบายใจ เพราะห่วงหรือคิดหนักในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือหลายเรื่องอยู่ เช่น เรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องครอบครัว หรือผิดหวังในเรื่องหนึ่งเรื่องใด
การตรวจรักษาต่อไป จึงควรจะสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้คนไข้ไม่สบายใจ และหาทางช่วยแก้ไขให้คนไข้ นอกจากนั้น ก็ควรจะพูดคุยให้กำลังใจ ให้คติสอนใจ และให้คนไข้ได้ขำขัน คนไข้จะได้รู้สึกสบายใจขึ้น อย่างน้อยก็ในขณะที่เรากำลังพูดคุย(ซักประวัติ) และตรวจร่างกายของผู้ป่วยอยู่
ค. หน้าเบื่อ “หน้าเซ็ง” แสดงว่า คนไข้กำลังเบื่อหน่าย ท้อถอยหรือหมดอาลัยตายอยาก ไม่มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับอุปสรรคแห่งชีวิต เพราะเกิดความผิดหวังหรือไม่สมหวังในสิ่งที่ตนตั้งใจ
การตรวจรักษาต่อไป จึงควรจะสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้คนไข้เบื่อหรือเซ็ง และหาทางช่วยแก้ไขให้ ทำให้คนไข้เกิดกำลังใจ และมองเห็นช่องทางที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ อีก
ง. หน้าตื่น แสดงว่า คนไข้กำลังตกใจ กลัว หรือตื่นเต้น เพราะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปทำให้คนไข้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น
การตรวจรักษาต่อไป จึงควรสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้คนไข้กลัวหรือตื่นเต้น เช่น ฝันร้าย คำพยากรณ์ ของหมอดู หรืออื่น ๆ แล้วหาทางปัดเป่าหรือทำให้ความกลัวหรือความตื่นเต้นนั้นคลายลง อาการเจ็บป่วยจึงจะดีขึ้นได้

จ. หน้าเฉย หรือสีหน้าไม่เข้ากับอารมณ์ แสดงว่าคนไข้เป็นโรคจิต(บ้า) หรือแกล้งทำ หรือเป็นโรคสั่นเมื่อว่าง (โรคพาร์กินสัน Parkinson’s disease) หรือ เป็นโรคแรงตกเร็ว (โรคมัยแอ๊สธีเนีย, Myasthenia gravis) จึงควรจะซักถามและตรวจร่างกายให้รู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไรแน่ นอกจากนั้น อาการหน้าเฉย อาจเกิดจากเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 เป็นอัมพาตทั้ง 2 เส้น ซึ่งนาน ๆ จึงจะได้พบสักครั้งหนึ่ง และในกรณีหลังนี้ ผู้ป่วยจะทำปากจู๋ ยิ้มหรือหลับตาให้สนิทไม่ได้

สีหน้าของคนไข้จึงมีความสำคัญที่จะต้องหัดสังเกต เพื่อนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคหรือปัญหาของผู้ป่วย และเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจว่า ประวัติที่เราซักได้จากผู้ป่วยนั้น มีความเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด เช่น
ถ้าคนไข้บอกเราว่า “เจ็บท้องมากเหลือเกิน คุณหมอ” แต่สีหน้าและแววตาของคนไข้ยังดูสดชื่นเป็นปกติ ก็แสดงว่า คนไข้นั้นคงจะไม่เจ็บมากนัก หรืออาจจะไม่เจ็บเลยแต่แกล้งบอกเราว่า เจ็บ เป็นต้น
หรือถ้าคนไข้บอกเราว่า “ไม่ค่อยเจ็บหรอกครับ คุณหมอ” หรือ “เจ็บพอทนได้ครับ คุณหมอ” แต่แววตาสีหน้า และท่าทางของคนไข้แสดงความเจ็บปวด หรือเห็นคนไข้กัดฟันเป็นพักๆ (สังเกตได้ที่กล้ามเนื้อข้างแก้ม จะแข็งนูนเป็นสันตั้งแต่หน้าหูลงมาจนถึงมุมขากรรไกรล่าง เป็นพักๆ) ก็แสดงว่าคนไข้กำลังเจ็บมาก แต่คนไข้เป็นคนที่อดทนอย่างยิ่ง ซึ่งพบได้บ่อยในชาวบ้านที่เคยเผชิญกับความทุกข์ยากมาเป็นเวลานาน ความอดทนเช่นนี้ บางครั้งทำให้หมอที่ตรวจคนไข้ เข้าใจผิดไปว่าคนไข้ไม่เจ็บมาก หรือไม่เจ็บ ซึ่งอาจทำให้หมอวินิจฉัยโรคผิดได้

3.13 หน้าตาแสดงโรคต่าง ๆ เช่น
ก. โรคของต่อมธัยรอยด์ (ต่อมคอพอก) เช่น


ก.1 ต่อมคอพอกเป็นพิษ
(thyrotoxicosis หรือ hyperthyroidism) จะทำให้หน้าดุ เพราะตาจะโปนโต (ตาถลน) เห็นตาขาวได้รอบตาดำ (คนปกติที่ลืมตาอยู่ จะไม่เห็นตาขาวรอบตาดำได้ เพราะเปลือกตาบนจะปิดส่วนบนของตาดำไว้) แก้วตา (รูม่านตา) จะขยายกว้าง ทำให้ตาวาวดุกว่าปกติ (ดูรูปที่ 1) ลักษณะตาโปนโตทั้ง 2 ข้างนี้ อาจพบได้ในโรคอื่นบ้าง แต่พบได้น้อยมาก ดังนั้น เมื่อเห็นคนหน้าตาดุ ๆ และตาโปนแววหน้ากลัว จึงต้องคิดถึงโรคต่อมคอพอกเป็นพิษเสมอ



ก.2 ต่อมคอพอกทำงานน้อยกว่าปกติ
(myxedema หรือ hypothyroidism) จะทำให้หน้าฉุ ๆ ผิวหน้าดูพอง ๆ ฟุ ๆ และหยาบ ผมและขนคิ้วแลดูหลาบแห้ง และน้อย ขนคิ้วอาจร่วงมาก หนังตาหนา ทำให้ตาตี่แคบ (ลืมตาได้น้อย) เสียงแหบซ่า ลิ้นโตคับปาก (ดูรูปที่ 2) ลักษณะหน้า
แบบนี้ อาจพบได้ในคนที่เป็นโรคเรื้อรังนาน ๆ โดยเฉพาะ ถ้ามีสารผิดปกติเกิดขึ้น (amylodosis) แต่ถ้าพบหน้าแบบนี้ จะต้องคิดถึงต่อมคอพอกทำงานน้อยกว่าปกติก่อนเสมอ

( รูปที่ 2 หน้าฉุ ในโรคต่อมคอพอกทำงานน้อย )

แต่ถ้าต่อมคอพอกทำงานน้อยกว่าปกติตั้งแต่เกิด (cretinism
) เด็กจะไม่เติบโตเท่าที่ควร ศีรษะจะใหญ่กว่าปกติ ตาห่างจากกันมาก หนังตาหนา ริมฝีปากหนา จมูกแบนหัก ลิ้นใหญ่คับปาก และยื่นออกมาจุกอยู่ที่ปาก นอกจากหน้าตาที่เปลี่ยนไปแล้ว รูปร่างลักษณะอื่น ๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย เช่น ลำตัวสั้นและหนา ผิวหนังแห้งหยาบ ซีดเซียว ท้องโป่งยื่น, สะดือจุ่นหรือโป่งออกเป็นก้อน มือสั้น นิ้วมือสั้นและนิ้วทั้งห้ายาวเกือบเท่ากัน เสียงแหบ ปัญญาอ่อน และอาจจะหูหนวก หรือเป็นใบ้ด้วย (ดูรูปที่ 3)


( รูปที่ 3 หน้าตาและรูปร่างของเด็กที่ต่อมคอพอพทำงานน้อยมาตั้งแต่เกิด )
ข. โรคคนยักษ์เมื่อโต

(acromegaly) ซึ่งต่างจากโรคคนยักษ์ (gigantism) เพราะโรคคนยักษ์นั้น เกิดจากต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนแห่งความเจริญเติบโตออกมามากเกินไปตั้งแต่ก่อนวัยรุ่น (ก่อนแตกเนื้อหนุ่มแตกเนื้อสาว) ทำให้รูปร่างเจริญเติบโตเหมือนยักษ์ และมีหน้าตาปกติ
ส่วนโรคคนยักษ์เมื่อโตนั้น เกิดจากสาเหตุเดียวกัน แต่เกิดหลังวัยรุ่นแล้ว กระดูกส่วนใหญ่ไม่สามารถงอกยาวออกอีก จึงเติบโตในด้านใหญ่ ด้านกว้างมากกว่าด้านยาว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ศีรษะ หน้าตา และมือ เท้ามากกว่าส่วนอื่น หน้าตาจะมีลักษณะคางใหญ่และยื่น ครึ่งล่างของหน้าดูใหญ่กว่าครึ่งบนรวมทั้งศีรษะ(ดูรูปที่ 4) ซึ่งเมื่อเห็นหน้าตาแบบนี้ จะต้องนึกถึง “โรคคนยักษ์ เมื่อโต” เสมอ
( รูปที่ 4 หน้าตาในโรคคนยักษ์เมื่อโต)



ค. โรคเลือด

โดยเฉพาะโรคของเม็ดเลือดแดง ที่มีส่วนสีแดง (ฮีโมโกลบิน) ผิดปกติ ซึ่งในประเทศไทย เรามีมาก ที่เรียกกันว่า โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ในคนที่เป็นมาก ใบหน้าจะผิดปกติชัดเจน มีลักษณะแบบที่เรียกว่า หน้ามองโกล (mongoloid facies) โดยจะมีโหนกแก้มสูง ตาค่อนข้างเล็กยาว ตาทั้งสองห่างจากกันกว่าคนปกติ สันจมูกแบนราบ (จมูกหัก) ผิวหน้ามักจะขาวเหลือง เพราะซีดและเม็ดเลือดแดงแตกทำลายมาก เลยทำให้แลดูเหลือง (ตาเหลืองตัวเหลือง) ถ้าเป็นนาน ๆ ผิวหน้าจะคล้ำดำและซีดเหลือง นอกจากหน้าตาที่ผิดปกติแล้ว รูปร่างของคนที่เป็นโรคนี้จะแคระแกร็น เตี้ยกว่าคนในอายุเดียวกัน ท้องส่วนบนจะโป่ง เพราะตับโตและม้ามโต (ดูรูปที่ 5)
โรคนี้สืบทอดทางกรรมพันธุ์ แบบธรรมดาอย่างอ่อน (autosomal recessive) คือถ้าพ่อและแม่เป็นโรคนี้ ลูกทั้งหมดจะเป็นโรคนี้ แต่ถ้าพ่อหรือแม่เพียงคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้โดยที่อีกคนหนึ่งไม่มีเชื้อนี้อยู่ จะไม่มีลูกคนใดเป็นโรคนี้เลย
ง. โรคกระดูกอ่อนไม่เจริญ (achondroplasia) ใบหน้าจะมีลักษณะสี่เหลี่ยมใบหน้าใหญ่เพราะศีรษะใหญ่ ดั้งจมูกหัก นอกจากนั้น รูปร่างจะเตี้ยแคระ ลำตัวใหญ่ แต่แขนขาสั้นและโค้งงอ ดั้งจมูกหัก เอวแอ่นไปข้างหน้า ทำให้สะโพก (ก้น) งอนไปข้างหลังมาก (ดูรูปที่ 1 และรูปที่ 2 ในเรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” ใน”หมอชาวบ้าน” ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2523)
จ. โรคหน้าผี (ectodermal dysplasia) ใบหน้าจะมีการเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้มีลักษณะเหมือนหน้าผี (ดูรูปที่ 6) ผมบาง (ศีรษะอาจล้าน) เส้นอาจจะมีขนาดเล็ก บางและเปราะ หูอาจจะตึงหรือหนวก โรคนี้มีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้หลายแบบ อาจจะเป็นแบบธรรมดาอย่างแรง (autosomal dominant) หรืออย่างอ่อน (autosomal recessive) หรือแบบผ่านทางเชื้อเพศ (X-linked) ทำให้ใบหน้ามีลักษณะคล้ายกันแม้จะไม่ได้เกี่ยวดองเป็นญาติกันเลย


ฉ. โรคเอสแอลอี (systemic lupus erythematosus) ซึ่งจะมีผื่นแดงคล้ายรูปผีเสื้อที่บริเวณหน้า โดยส่วนที่เป็นตัวผีเสื้อ คือ ผิวหนังที่อักเสบแดงตรงบริเวณดั้งจมูก ส่วนที่เป็นปีกผีเสื้อ คือ ผิวหนังที่อักเสบแดงตรงบริเวณดั้งจมูก ส่วนที่เป็นปีกผีเสื้อ คือ ผิวหนังที่อักเสบแดงจรงบริเวณแก้ม หรือโหนกแก้มทั้ง 2 ข้าง (ดูรูปที่ 7)โรคเอสแอลอีเป็นโรคภูมิแพ้อย่างหนึ่ง ทำให้มีอาการปวดข้อ มีไข้ อาจจะมีอาการหน้าบวม เท้าบวม ผมร่วง หอบเหนื่อยชัก และหมดสติได้

( รูปที่ 7 หน้าตาคนไข้โรคเอสแอลอี )

ช. โรคลิ้นหัวใจตีบ โดยเฉพาะลิ้นไมตรัลตีบ (mitral stenosis) ถ้าเป็นมาก จะทำให้หน้าและริมฝีปากเขียว (เขียวในที่นี้ หมายถึงสีม่วงดำหรือม่วงคล้ำ) บริเวณโหนกแก้ม อาจจะมีฝ้าสีม่วง หรือสีคล้ำร่วมด้วย ซึ่งจะคล้ายกับฝ้าที่หน้าของหญิงตั้งครรภ์บางคน แต่ผิดกันตรงที่ฝ้าที่หน้าของหญิงตั้งครรภ์ จะมีสีออกไปทางสีน้ำตาล และหน้าตลอดจนริมฝีปากจะไม่เขียว นอกจากนั้น ฝ้าที่หน้าของหญิงมีครรภ์ จะจางหายไปเมื่อคลอดแล้ว


ซ.
โรคเรื้อน
(leprosy) ทำให้ใบหน้ามีลักษณะแบบที่เรียกกันว่า หูหนาตาเล่อ ถ้าเป็นมาก ผิวหนังจะขรุขระ เป็นตะปุ่มตะป่ำ หูหนา คิ้วร่วงโคนคิ้วปูด หนังตาบวม ทำให้ตาเล็กแคบ อาจจะมีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม ในส่วนที่เป็นแผล บางคนจะมีนิ้วมือนิ้วเท้ากุด และมีแผลน้ำเหลืองเยิ้มตามตัวด้วย (ดูรูปที่ 8)

3.14 หน้าตาแสดงภาวะผิดปกติต่าง ๆ เช่น
ก. ภาวะเส้นประสาทสมองเส้นที่ 3 พิการ ทำให้หนังตาตก ลืมตาข้างนั้นได้ยากภาวะนี้เกิดจากโรคหลายอย่าง ที่ทำให้เส้นประสาทสมองเส้นที่ 3 ได้รับการกระทบกระเทือน เช่น โรคแรงตกเร็ว (myasthenia gravis) ซึ่งอาจจะทำให้หนังตาตกทั้ง 2 ข้าง หรือตกข้างเดียวก็ได้ โพรงเลือดดำในสมองอักเสบ (cavernous sinus thrombo-phlebitis) ซึ่งจะทำให้หน้าข้างนั้นอักเสบแดง และบวมด้วย (ดูรูปที่ 9)
ข. ภาวะเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 พิการ ทำให้หน้าเบี้ยว นั่นคือ หน้าข้างที่พิการนั้น จะดูเรียบกว่าปกติ ไม่มีรอยย่นของผิวหนังเหมือนข้างที่ดี มุมปากของหน้าข้างนั้นจะตก ทำให้น้ำลายไหลออกมาทางมุมปากด้านนั้น ตาข้างนั้น อาจจะหลับได้ไม่สนิท ส่วนหน้าข้างที่ดี จะดูย่นและดูคล้ายจะดึงข้างที่เสียเข้าไปหาตัว หน้าตาจึงดูเบี้ยว ถ้าให้แยกเขี้ยวยิงฟัน หรือยิ้มหรือทำปากจู๋ หน้าข้างที่ดีเท่านั้น จะทำได้ ส่วนข้างที่เสียจะอยู่เฉยและจะถูกดึงไปโดยข้างที่ดีด้วย (ดูรูปที่ 10)
ภาวะนี้พบได้ในหลายโรคที่ทำให้เกิดการกดทับการทำลายหรือการอักเสบของประสาทสมองเส้นที่ 7
ค. ภาวะปัญญาอ่อน ซึ่งเกิดได้จากหลายโรค ทั้งที่เป็นกรรมพันธุ์ หรือโรคที่เกิดจากเชื้อโรค จากการขาดอาหารจากการชักบ่อย ๆ เพราะไข้สูงในวัยเด็ก และอื่น ๆ หน้าตาของคนปัญญาอ่อน อาจจะดูอ่อนหรือแก่กว่าอายุ แต่จะดูทึ่มหรือไร้เดียงสา ศีรษะอาจจะใหญ่ หรือเล็กกว่าปกติ หน้าผากอาจจะแคบ ตาเบิ่งหรือเหม่อมองโดยไม่เข้าใจความหมาย แววตาอาจจะกระด้างและเย็นชา ถ้าได้สังเกตดูสักพัก ก็จะเห็นอากัปกิริยาท่าทางที่ช่วยสนับสนุนภาวะปัญญาอ่อนได้
การฝึกสังเกตหน้าตาและลักษณะต่าง ๆ ให้แม่นยำ ดังตัวอย่างที่ได้นำมาแสดงไว้ในหัวข้อต่าง ๆ ถึง 14 หัวข้อ จะช่วยทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วขึ้น และช่วยทำให้เป็นหมอที่สมบูรณ์ขึ้น เพราะแววตาและหน้าตาของคนไข้จะเป็นกระจกสะท้อนถึงจิตใจ ความไม่สบายใจ ความพอใจ ความกังวลใจ ฯลฯ ของผู้ป่วย ทำให้เราสามารถให้การดูแลรักษาได้ถูกต้อง เพราะการดูแลรักษาที่ดีนั้น จะต้องประกอบด้วยการดูแลรักษาทั้งทางกายและทางใจ ควบคู่ไปด้วยกันเสมอ

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

งูสวัด พันรอบเอวแล้วตายจริงหรือ?

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

งูสวัด พันรอบเอวแล้วตายจริงหรือ?

“ลุง รีบไปให้หมอแฉ่งพ่นเถอะ ขึ้นเป็นเม็ดเรียงกันเป็นทางยาวแบบนี้ ใช่งูสวัดแน่ ๆ เลย ขืนชักช้า ปล่อยให้มันลามรอบเอวเมื่อไหร่ มีหวังต้องต่อโลงแน่.....”
“ลุง ไปซื้อยาผงแก้งูสวัดจากร้านขายยาไทย มาทาเถอะ วันก่อนลูกชายฉันก็เป็นแบบนี้ ใช้ยาไทยได้ผลมาแล้ว......”
“ลุง เอาใบเสลดพังพอน ตำกับน้ำข้าวโปะตรงที่เป็นนั่นแหละ รับรองภายใน 2-3 วัน เม็ดพวกนี้จะยุบหมด......”
เช้าวันหนึ่ง ลุงจ้อน นอนตื่นขึ้นมา ก็รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว และมีอาการปวดตรงเหนือสะดือ ร้าวมาที่ชายโครงด้านขวา หลายวันมานี้ แกก็ไม่ได้ไปหกล้มกระแทกถูกอะไรมา มองดูก็ไม่เห็นมีฝีหรือแผลพุพองขึ้นแต่อย่างใด
“เอ หรือ จะเป็นโรคหัวใจ?” ลุงเคยได้ยินลูก ๆ พูดว่า คนแก่ที่มีอาการเจ็บหน้าอกนั้น บางทีก็เกิดจากโรคหัวใจได้ ตกบ่าย ลุงจ้อนจึงไปหาหมอที่คลินิก
หมอตรวจดูแล้ว ก็ไม่พบว่าอาการที่เป็นนั้น มีสาเหตุจากอะไรกันแน่ หมอเพียงแต่รับรองกับลุงว่า
อาการปวดนี้ ไม่ใช่โรคหัวใจหรอกครับ”
แล้วก็ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ให้ลุงกลับไปกิน
อีกสองวันต่อมา ลุงจ้อนก็สังเกตเห็นมีตุ่มน้ำใส ๆ พุขึ้นตรงใต้ราวนม และค่อย ๆ พุมากขึ้นเป็นทางยาว จากบริเวณเหนือสะดือมาที่ชายโครงด้านขวา ซึ่งตรงกับตำแหน่งที่ปวดนั้นพอดี
นี่แหละคือ อาการของงูสวัด ซึ่งเป็นโรคที่ชาวบ้านเรารู้จักมักคุ้นกันดี
ใครที่เป็นงูสวัด ก็จะถูกทักและแนะนำให้รักษาแบบพื้นบ้าน ดังที่ลุงจ้อนถูกมาแล้วข้างต้นนั่นแหละ
พันรอบเอวแล้วตายจริงหรือ?
ชาวบ้านเรามีความเชื่อว่า ถ้างูสวัดขึ้นรอบเอวแล้ว มีหวังตาย
ข้อนี้ เท็จจริงอย่างไรนั้น ผู้เขียนคงยืนยันไม่ได้ เพราะยังไม่เคยเห็นคนที่เป็นงูสวัดชนิดพันรอบเอวสักที และก็ยังไม่เคยเห็นคนที่ตายจากโรคนี้สักคน
ในตำราแพทย์ก็บอกไว้ว่า งูสวัดมักจะขึ้นเพียงซักหนึ่งซีกใดของร่างกายเท่านั้น จะไม่ลามข้ามไปขึ้นอีกซีกหนึ่ง
งูสวัดเป็นโรคที่เกิดเนื่องจากมีเชื้อไวรัส (ชนิดเดียวกับ เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสนั่นแหละ) เข้าไปทำให้มีการอักเสบของผิวหนังในบริเวณนั้น เกิดเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้น เรียงเป็นทางยาวไปตามแนวเส้นประสาท ดูคล้ายงูเลื้อย คนไทยเราจึงเรียกอาการแบบนี้ว่า งูตระหวัด หรือ สวัด ฝรั่งเรียกว่า เฮอร์ปี่ซอสเตอร์ (Herpes zoster) ฟังแล้วทำให้มองเห็นภาพพจน์สู้ชื่อแบบไทย ๆ เราไม่ได้
โรคนี้จัดว่า เป็นโรคที่เป็นเองหายเองได้ ถ้าไม่มีโรคแทรก ตุ่มจะค่อย ๆ ยุบแห้งเป็นสะเก็ด ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ถ้าเป็นในคนอายุมาก ก็อาจหายช้าสักหน่อย อาจกินเวลานาน 4-5 สัปดาห์ก็ได้
โรคแทรกที่พบได้บ่อย ก็คือ มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปผสมโรง ทำให้ตุ่มเป็นหนอง หายช้าและอาจกลายเป็นแผลเป็นได้ ส่วนมากจะพบเป็นที่บริเวณทรวงอก ซีกหนึ่งซีกใด แต่ก็อาจขึ้นที่แขน ขา หรือใบหน้าได้ถ้าเป็นที่หน้า อาจลามเข้าตา ทำให้ตาอักเสบ หากรักษาไม่ดี อาจทำให้ตาบอดได้โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักจะไม่เป็นซ้ำอีก เช่นเดียวกับอีสุกอีใส


เมื่อเป็นงูสวัด จะรักษาอย่างไร?

ก่อนอื่น อย่าได้ตกอกตกใจไปตามคำทักของชาวบ้าน อันตรายของโรคนี้ จริง ๆ แล้วมีไม่มาก เพียงแต่ชื่อมันฟังดูน่ากลัวเท่านั้นเอง

การดูแลรักษา
ให้ดูแลรักษาไปตามอาการ คือ ถ้ารู้สึกปวดหรือมีไข้ ให้กินยาแก้ปวดลดไข้ เช่น แอสไพริน หรือ พาราเซตาม่อล ครั้งละ 1-2 เม็ด (เด็กครั้งละ ครึ่งถึงหนึ่ง เม็ด), ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง และทาด้วยยาแก้ผดผื่นคัน (หรือ คาลาไมน์โลชั่น)
ควรระวังรักษาผิวหนังในบริเวณที่มีงูสวัดขึ้นให้สะอาด
ถ้าไม่มีโรคแทรก ก็ใจเย็น ๆ รอไปสัก 2-3 สัปดาห์ ตุ่มก็จะค่อย ๆ ยุบแห้งเป็นสะเก็ดได้เอง
ถ้าตุ่มกลายเป็นหนอง ให้กินยาปฏิชีวนะ ผู้ใหญ่ให้กินเตตร้าซัยคลีน (แค็ปซูลละ 1 บาท) ครั้งละ 2 แค็ปซูล หรือ ถ้าไม่แพ้ยาพวกเพนนิซิลลิน ก็ให้ยาเม็ดเพนวี (ขนาด 4 แสนยูนิต เม็ดละ 0.75-1 บาท) ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 4 ครั้ง เด็กให้กินยาเม็ดเพนวี (ขนาด 2 แสนยูนิต เม็ดละ 50 สตางค์) ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง นาน 7-10 วัน
แต่ถ้ามีอาการรุนแรง (เช่น เป็นหนองเฟะ หรือปวดรุนแรง) หรือ งูสวัดขึ้นที่ตา ก็ควรจะไปหาหมอเสียแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าครับ
ส่วนวิธีการรักษาแบบพื้นบ้านนั้น ผู้เขียนไม่เคยมีประสบการณ์ ข้อควรระวังก็คือ หากจะใช้สมุนไพร ทาหรือโปะ ก็ขอให้รักษาความสะอาดให้มาก ๆ ด้วย ใครที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้ หากจะเขียนมาเล่าสู่กันฟังใน “หมอชาวบ้าน” ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเรามากเลยครับ

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ผู้โดยสารขาเข้า

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ฉบับก่อน “ทหารพีของอาโก” เล่าเรื่องสนามบิน หรือปอดของอาโกมาแล้ว แต่ผมก็คงต้องเท้าความสักหน่อย เพื่อให้เรื่องมันปะติดปะต่อกัน อาโกหรือปอดของอาโก มีจ้าวโรคอาศัยอยู่จำนวนมากคือเชื้อ วัณโรค ขณะที่อาโกไอ ฟองน้ำลายจะกระจายไปในอากาศ พร้อมกับพาเอาเชื้อวัณโรคติดไปกับละอองน้ำลายด้วย เหมือนกับการเป่าน้ำสบู่ด้วยหลอดกาแฟ ทหารพีของอาโกเรียกวัณโรคที่ติดไปกับละอองน้ำลายว่า ผู้โดยสารขาออก

รูปภาพเชื้อวัณโรค

จริง ๆ นะครับ วัณโรคเป็นผู้โดยสารขาออกของสนามบินปอดอาโก เพราะส่งออกไปนอกประเทศ หรือนอกตัวอาโก วัณโรคเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดแท่ง ย้อมไม่ติดสีธรรมดา แต่จะติดสีพิเศษ การดำรงชีพก็แตกต่างกว่าแบคทีเรียทั่ว ๆ ไป คือการเจริญเติบโตของมันจะช้ากว่า จะแบ่งตัวแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 4 วัน ส่วนแบคทีเรียธรรมดา การแบ่งตัวเกิดขึ้นในเวลาเป็นนาที หรือชั่วโมงเท่านั้น วัณโรคพบมากในประชากรไทย โดยเฉพาะในที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น เช่น กรุงเทพฯ เรียกว่าทุก ๆ คนเคยได้รับเชื้อวัณโรคมาแล้วทั้งนั้น แต่การจะเกิดโรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย การต่อต้านเชื้อของแต่ละคน จำนวนของเชื้อที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย และความรุนแรงของเชื้อประกอบกันด้วย
เมื่อตรุษจีนปีนี้เอง หมวยใหญ่พาลูก 2 คนมาอยู่ด้วย เพราะมีความยุ่งยากเกี่ยวกับครอบครัว บ้านอาโกเป็นเพียงห้องแถวแคบ ๆ หมวยใหญ่และลูก ๆ ก็ต้องนอนห้องเดียวกับอาโก ลูกคนโตชื่อตี๋ใหญ่ อายุประมาณ 6 ขวบ ซึ่งแรงกำลังซน ส่วนคนเล็กชื่อหมวยเล็ก อายุเพิ่ง 2 ขวบ ไม่ค่อยแข็งแรงนัก ชอบเจ็บไข้บ่อย ๆ อาโกรักหลานทั้งสองมาก มักจะหมั่นดูแลอุ้มชูเสมอ ๆ อาโกไม่เคยรู้ตัวเองเลยว่าเป็นวัณโรคและก็ไม่รู้วิธีป้องกันด้วย จึงไอ จาม โดนหลานทั้งสองเป็นประจำ
ผู้โดยสารขาออกของอาโกกำลังกลายเป็นผู้โดยสารขาเข้าไปสู่สนามบิน ปอดของเด็กทั้งสองแล้วละครับ เจ้าหนูทั้งสองต่างก็สูดเอาเชื้อวัณโรค ผ่านจากจมูกเข้าคอผ่านหลอดเสียง เข้าไปในหลอดลม และเข้าไปในถุงลมแล้วก็ติดอยู่ที่นั่น จ้าวโรควัณโรคมีความสามารถเกาะติดผนังถุงลม และเข้าไปในเนื้อเยื่อของปอด ทหารพีของถุงลม (Alveolar macrophage) เห็นเข้าก็รีบตะโกนกันต่อ ๆ ไปว่า สนามบินถูกข้าศึกบุก เกิดการรวมพลต่อต้าน การต่อต้านของทหารพีคือ กิน กิน กิน จับเชื้อวัณโรคกินกันใหญ่ ผมว่าคงอร่อย โดยทหารพีหลงกลข้าศึก คิดว่ากินแล้วจะกลืนได้สบาย ที่ไหนได้เจอเอากระดูกชิ้นใหญ่ กลืนไม่ลงเลยครับ ทหารพีฆ่าวัณโรคที่กินเข้าไปไม่ได้ แถมยังถูกวัณโรคที่อยู่ในท้องทหารพี ใช้ทหารพีเป็นอาหารเลี้ยงตัวเองจนอ้วนพี แล้วก็แบ่งตัวหรือเรียกง่าย ๆ ว่า ออกลูกออกหลานในตัวทหารพีนั่นแหละครับ ทหารพีชักแย่แล้ว ต้องถอยกรูดไปหาต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองของแต่ละคนก็มีความสามารถแตกต่างกันไป เช่น ของตี๋ใหญ่ และ หมวยเล็ก เป็นต้น
ตี๋ใหญ่เป็นเด็กสุขภาพดี กลไกของการต้านทานโรคอยู่ในเกณฑ์ดี ต่อมน้ำเหลืองของตี๋ใหญ่สามารถ
ล้อมเก็บเอาตัวแบคทีเรียไว้ได้ ไม่กระจายไปที่อื่น แต่วัณโรคยอดอดทน ยังมีชีวิตอยู่ในต่อมน้ำเหลืองนั้นได้ โดยตี๋ใหญ่ไม่ได้เกิดอาการหรือโรควัณโรคเลย เหมือนกับการเก็บเอาเชื้อไว้ในกล่องที่ปิดฝาสนิทนั่นแหละครับ ส่วนหมวยเล็กอายุเพิ่ง 2 ขวบ สภาพการป้องกันโรคยังไม่แข็งแรงพอ แถมยังอ่อนแอกว่าเด็กอื่น ๆ ด้วย เมื่อได้รับเชื้อ ทหารพีของหมวยเล็กมีการต่อต้านแบบเดียวกับตี๋ใหญ่ในระยะแรก ๆ แต่ต่อมาเชื้อโรคทำให้ทหารพี ท้องแตกตาย แล้วมาอยู่ภายนอกเซลล์ ทหารพี ทั้งบริเวณต่อมน้ำเหลืองและเนื้อปอด ไม่สามารถเก็บกักจ้าวโรคได้ ทำให้มันแพร่ออกไป ๆ
เนื้อปอดของหมวยเล็กเริ่มถูกทำลายลง ทำให้เกิดการตายของเซลล์ต่าง ๆ ของเนื้อปอด เกิดเป็นสารเละ ๆ สีเหลือง (Caseation-คาสิเอชั่น) คล้ายไข่แดงของไข่เค็มดิบ หมวยเล็กโชคไม่ดีครับ แนวป้องกันอ่อนแอมาก วัณโรคก็แบ่งตัวตามชอบใจ มีการแพร่กระจายไปจนเข้าหลอดเลือดดำ เชื้อวัณโรคก็กระจายไปตามเส้นเลือดดำทั่วปอดได้ การแพ้สงครามแบบนี้ พบมากในเด็กที่ไม่เคยได้รับเชื้อวัณโรคมาก่อนเลย นอกจากกระจายไปทั่วปอดแล้ว ยังกระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วย รวมทั้งน้ำไขสันหลังทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจตายหรือพิการได้

ส่วนตี๋ใหญ่น้าของผม เมื่อทหารพีกินวัณโรคเข้าไปแล้ว เชื้อจะแบ่งตัวเจริญได้ในตัวทหารพี แต่ทหารพีก็แน่นะครับ รีบส่งข่าวบอกพวกผมทหารที (T-lymphocyte-ทีลิมโฟซัยท์) ให้รีบมาล้อมรอบวัณโรคไว้ เพราะทหารพีเอาไว้ไม่อยู่แล้ว เหมือนหน้าด่านแตกแหละครับ นอกจากจะส่งข่าวดาวเทียมบอกผมแล้ว ทหาร-พียังแปลงกายเป็นยักษ์ (Giant cell) ช่วยกันต่อสู้วัณโรค ตอนนี้วัณโรค, ทหารยักษ์ อยู่ตรงกลาง มีทหารทีตัวอ่อนๆ มากมายล้อมรอบไว้อย่างแน่นหนา พวกผมมีฤทธิ์นะครับ ไม่ได้มาล้อมเอาไว้เฉย ๆ ผมสามารถปล่อยพิษหรือจะเทียบกับก๊าซพิษก็ได้ครับ เพราะพิษของผมจะทำลายทุกอย่างที่อยู่ใกล้ แม้แต่เซลล์ของตัวนายผมเอง พิษของผมเข้าทำลายเซลล์เชื้อโรคได้ แต่นั่นแหละครับ ถึงจะมีพิษอย่างไรจ้าวโรคก็ยังไม่ตายหมด เพราะพิษของพวกผมเข้าไปได้ไม่ถึงทุกตัว บางตัวจึงยังมีชีวิตอยู่ได้นาน โดยที่มีพวกผมล้อมไว้ นาน ๆ เข้า ร่างกายก็ส่งธาตุหินปูน หรือ แคลเซี่ยมมาล้อมให้แน่นหนาขึ้น นายเชื้อวัณโรคก็เลยอยู่ในปอดของนายผมเฉย ๆ ทำอะไรกันไม่ได้
คุณเห็นไหมครับ สนามบินเป็นทางติดต่อกับโลกภายนอก คุณควรรักษาไว้ให้แข็งแรง วิธีรักษาก็พูดง่ายครับ แต่ทำยากส์ คือ พยายามหายใจในอากาศบริสุทธิ์ เห็นไหมครับแค่ข้อเดียว ชาวกรุงก็ไม่มีทางจะทำได้แล้ว เพราะไม่มีทางจะหนีท่อควันไอเสียไปได้ แต่ท่านที่อยู่ต่างจังหวัดก็นับว่าโชคดีครับ เพราะมีแต่อากาศบริสุทธิ์สดชื่นตลอดเวลา พยายามสูดหายใจแรง ๆ ทั้งเข้าและออกทุก ๆ เช้า เพื่อบริหารปอดให้แข็งแรงอีกอย่างหนึ่งครับ อย่าพยายามพาก๊าซพิษจากบุหรี่มารมปอดนะครับ เพราะก๊าซพิษจากบุหรี่จะทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจและยังมีพิษอีกหลายอย่างครับ

ภาคพิเศษ
วัณโรค ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Tuberculosis (ทูเบอคูโลลิส) หรือชื่อย่อว่า T.B. (ทีบี) ครับ เชื้อวัณโรค คือ Mycobacterium tuberculosis (มัยโคแบคทีเรียมทูเบอคูโลลิส) เป็นแบคทีเรียชนิดแท่ง ติดสีกรัมไม่ดี แต่จะติดสีที่ย้อมพิเศษ คือ ติดสี Acid fast (แอสิด ฟาสต์) บางครั้งจึงอาจถูกเรียกรวม ๆ ว่า Acid fast bacilli (แอสิด ฟาสต์ บาซิลไล) ทางเข้าของเชื้อวัณโรค คือ หายใจเข้าไปสู่ปอด ส่วนใหญ่ T.B. (ทีบี) มักเป็นบริเวณปอด แต่อาจเกิดที่อื่น ๆ ได้ เช่น ต่อมทอนซิล, ลำไส้, ต่อมน้ำเหลือง, สมอง, วัณโรคเป็นโรคที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้า ๆ
เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเม็ดเลือดขาว และ Macrophage (แม็คโครเฟก) จับกิน แต่วัณโรคเป็นเชื้อที่สามารถเจริญเติบโตใน Macrophage ได้ และทำให้เซลล์แตกได้ ร่างกายจะมีการต่อต้านต่อเชื้อโรคโดยการที่พยายามทำลายเชื้อวัณโรค Macrophage จะกระตุ้นให้ T-lymphocyte (ทีลิมโฟซัยท์ หรือ เซลล์ที) เปลี่ยนแปลงเป็นตัวอ่อนล้อมรอบเชื้อและเซลล์ทีตัวอ่อนสามารถปล่อย สารลิมโฟไคเนส (Lymphokines) ซึ่งเป็นสารพิษต่อเซลล์หรือทำลายเซลล์ที่อยู่ใกล้มันทุกชนิดได้ ทั้งแบคทีเรียและเซลล์ของตัวผู้ป่วยเองด้วย การทำลายเซลล์ทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งกระบวนการแพ้เรียกว่า Delayed-type (ดีเลย์-ทัยพ์)
ผู้ที่ได้รับเชื้อวัณโรคครั้งแรก ส่วนใหญ่ร่างกายจะต้านทานไว้ได้ แต่เชื้อวัณโรคก็จะไม่ตาย เพียงแต่ถูกล้อมเอาไว้ไม่ให้เจริญเติบโตได้ แต่ถ้าต้านทานไม่ได้ เชื้อจะเจริญมากขึ้น และมักจะกระจายไปตามเส้นเลือดดำของปอด ทำให้แพร่กระจายจากส่วนกลางไปยังชายปอด เป็นแบบ Miliary tuv\berculosis (มิลิอารี่ ทูเบอคูโลลิส) หมายความว่า เป็นวัณโรคชนิดแพร่ไปทั่วตัว ส่วนในผู้ที่มีความต้านทาน จะมีวัณโรคอยู่ในร่างกาย แต่จะมีกระบวนการต่อต้านแบบ Granulomatous type (แกรนนูโลมาตัส) จะเปลี่ยนแปลงเป็น Giant cell (เซลล์ยักษ์) อยู่บริเวณเชื้อวัณโรค และมีพวก Lymphocyte (ลิมโฟซัยท์) ล้อมรอบ ต่อไปก็จะมี Fibrous tissus (ไฟบรัส ทิสชู หรือ เนื้อเยื่อเส้นใย) และแคลเซี่ยม (หินปูน) ไปล้อมไว้อีกทีหนึ่ง เชื้อวัณโรคจะยังคงไม่ตาย แต่จะถกล้อมกรอบไว้ ส่วนใหญ่เชื่อว่า วัณโรคที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ ร้อยละแปดสิบเกิดจากเชื้อวัณโรค ที่ผู้ป่วยมีอยู่ในตัวเอง ส่วนน้อยหรืออีกประมาณร้อยละยี่สิบ เกิดจากการได้รับเชื้อเข้าไปใหม่
การป้องกันไม่ให้เชื้อวัณโรคในตัวเรา แพร่กระจายทำให้เกิดโรคได้ ควรหมั่นออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์, ไข่, นม, น้ำเต้าหู้, หรือน้ำนมถั่วเหลือง ตื่นเช้าหายใจเข้าและออกแรงๆ วันละ 10 ครั้ง และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษต่อปอด คือ ไอเสียทุกชนิด ส่วนผู้ที่กำลังเป็นวัณโรคอยู่แล้วควรทำความเข้าใจว่าเชื้อวัณโรคเจริญช้า การรักษาต้องใช้เวลานานเป็นปี ต้องอาศัยความอดทน ความเข้าใจอย่างดี จึงจะหายจากโรคนี้ได้ การป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังผู้อื่น การไอ, จาม ควรใช้ผ้าปิดปากจมูกทุกครั้ง บ้วนแสลดลงในกระโถนหรือถุงพลาสติกและถ้าทำได้ควรใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโรคลงไปด้วย เช่น น้ำยาไลโซล (มีขายตามร้านขายยาทั่วไป) เอาละครับ ผมขอลาไปก่อน
 

สวัสดีครับ
                                                                                                      นายทหารที

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 2)

ข้อมูลสุขภาพ มูลนิธิหมอชาวบ้าน

“ประชาชนทั่วไปสามารถจะเรียนรู้การเป็นหมอรักษาตนเอง และญาติมิตรได้ โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บที่พบอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70-80) จะรักษาได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือที่พิเศษพิสดารอะไร เรื่อง “มาเป็นหมอกันเถิด” จะชี้แจงวิธีที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองจนเป็นหมอได้ เราจะเสนอท่านเป็นประจำ เริ่มลงตั้งแต่ฉบับที่ 1 ปีที่ 1”

การตรวจร่างกาย (ตอนที่ 2)

ก. การตรวจร่างกายทั่วไป (ต่อ)

เมื่อเราใช้ตาสังเกตอากัปกิริยาและลักษณะของคนไข้ว่า เป็นคนไข้ที่กำลังเจ็บหนักดังที่ได้กล่าวถึงในครั้งก่อนแล้ว เราก็จะต้องรีบให้การดูและรักษาคนไข้ทันที อย่ามัวไปเสียเวลาซักประวัติหรือตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพราจะทำให้คนไข้ถึงแก่กรรม (ตาย) ได้ เช่น

ถ้าเราเห็นคนไข้ถูกหามเข้ามาหาเราโดยไม่รู้สึกตัวเลย (หมดสติ หรือโคม่า) ต้องรีบจับชีพจรที่ขาหนีบ หรือที่ข้างคอทันที เพื่อดูว่ายังมีชีพจรที่ขาหนีบ หรือที่ข้างคออยู่หรือไม่ (ดูรูปที่ 1 และ 2)

ถ้าไม่มี ให้ถือว่าหัวใจหยุดเต้น รีบทุบลงตรงหน้าอกแรง ๆ สัก 1-2 ที ถ้าทุบแล้ว คนไข้ยังไม่รู้สึกตัว หรือยังคลำชีพจรไม่ได้ รีบเป่าปากช่วยการหายใจ และช่วยนวดหัวใจ (ดูรูปที่ 3) จนกว่าหัวใจของคนไข้จะเต้นได้เอง จนคลำชีพจรได้

ถ้าคนไข้ยังมีชีพจรอยู่ แต่หมดสติและไม่รู้สึกตัวเลย ควรจะฉีดน้ำตาลกลูโคสเข้าเส้นทันที (ฉีดกลูโคส 50% ประมาณ 100 ซี.ซี. เข้าเส้นทันที) ถ้าไม่มีกลูโคส 50% อาจให้น้ำเกลือ (น้ำเกลือที่มีน้ำตาลกลูโคสอยู่ด้วย) เข้าเส้นหรือถ้าคนไข้ยังพอกลืนเองได้โดยไม่สำลัก ให้ใช้น้ำหวานหรือน้ำละลายน้ำตาลให้คนไข้กินไปก่อนทันที

ถ้าคนไข้เลือดออกมาก ให้ใช้นิ้วมือหรือส้นมืดกดลงบนบาดแผลที่มีเลือดออกนั้นจนเลือดหยุด

ถ้าคนไข้มีไข้สูง ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวให้คนไข้ และอาจใช้พัดลมช่วยเป่าด้วย

ถ้าคนไข้ไม่หายใจ หรือหายใจลำบาก ก็ต้องช่วยหายใจ โดยการใช้พัดลม หรือการเป่าปากหรืออื่นๆ

การดูแลรักษาคนไข้ที่มีปัญหาต่างๆ จะกล่าวถึงอย่างละเอียดในภาคที่ 3 เมื่อภาคการซักประวัติและการตรวจร่างกายได้สิ้นสุดลงแล้ว

เมื่อเราใช้ตามองดูคนไข้แล้วไม่เห็นลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่จะเข้าได้กับลักษณะของการเจ็บหนัก เราก็ใช้ตาและหูของเราตรวจคนไข้ต่อไปโดยดู

1. กิริยาท่าทางของคนไข้ เช่น

1.1 ลักษณะการเดิน การเดินของคนปกติเป็นอย่างไร คงจะได้สังเกตกันอยู่แล้ว บางคนอาจจะเดินขาถ่าง บางคนอาจจะเดินหนีบขา บางคนเดินแบบทหาร บางคนเดินแบบขย่มธรณี (เดินเขย่งปลายเท้า) และอื่นๆ การเดินเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นสิ่งปกติที่แตกต่างกันได้ในแต่ละคนเหมือนกับรูปร่างหน้าตาของคนเราที่แตกต่างกัน แต่ถ้าเมื่อใด ลักษณะการเดินนั้นแปลกออกไปมาก เช่น

การเดินเข้าถ่าง (เดินเข่าถ่างออกจากันมาก) เหมือนพวกโคบาล (เคาบอย) ที่ขี่ม้าเป็นประจำตั้งแต่เด็กๆ ก็จะเดินเข่าถ่างได้ เพราถูกท้องม้าดันไว้ พวกนี้ถ้าให้ยืนตรงขาชิดกัน ก็จะเห็นได้ว่าเข่าห่างจากกันมาก แต่ส่วนใหญ่แล้ว อาการเข่าถ่างเกิดจากเมื่อตอนเล็กๆ เป็นโรคกระดูกอ่อน เพราะกินนมหรืออาหารที่มีวิตามินดีน้อยเกินไป หรือเป็นโรคอื่น (ดูรูปที่ 4)

การเดินเข่ากระทบกัน (เวลาเดินเข่าจะกระทบกัน) เพราะขาส่วนเข่าโค้งเข้า พวกนี้จะยืนตรงให้เท้าชิดกันไม่ได้เพราะเข่าจะเกยกัน เวลายืนตรงให้เท้าชิดกัน จึงต้องงอให้เข่าหนึ่งอยู่ข้างหน้า เข่าหนึ่งอยู่ข้างหลัง ส่วนใหญ่แล้วเกิดเพราเมื่อตอนเล็กๆ เกิดเป็นโรคกระดูกอ่อนแล้วงอเข้า แทนที่จะถ่างออก (ดูรูปที่ 5)

การเดินกะเผลก มักจะเกิดจากขาข้างหนึ่งผิดปกติ ซึ่งอาจจะเกิดจากการอักเสบหรือการพิการตั้งแต่เท้าขึ้นไปจนถึงข้อสะโพก เอว หรือ หลัง ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่ง

การเดินแปะๆ คือ การเดินที่ต้องยกเท้าขึ้นสูง นั่นคือ เดินแบบยกเท้าขึ้นสูง และเวลาวางเท้าลงกับพื้น ส่วนปลายเท้าจะแตะพื้นก่อน ทำให้เกิดการเดินที่มีเสียงแปะๆ อาจจะเป็นเพียงเท้าข้างเดียว หรือทั้งสองเท้าก็ได้ เกิดจากเส้นประสาทที่ใช้ยกปลายเทาเป็นอัมพาตไป (การเดินตามปกติ จะเอาส้นเท้าลงพื้นก่อนทำให้เกิดเสียงดังตึกๆ )

การเดินลากขาหรือเหวี่ยงขา แสดงว่าขาข้างหนึ่งถูกลาก หรือต้องใช้แรงเหวี่ยงอย่างมาก แสดงว่าขาข้างนั้นเป็นอัมพาต ถ้าในขณะเดินแขนข้างเดียวกันก็ไม่แกว่งไกวด้วย แสดงว่าแขนข้างนั้นคงจะเป็นอัมพาตด้วย เกิดเป็นสภาพที่เรียกว่าเป็นอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งมักเกิดจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนหนึ่งเกิดตีบ ตัน หรือ แตก ทำให้สมองที่ควบคุมแขนขาข้างนั้นเสียไป

การเดินเซไปเซมา เดินไม่ตรงทาง หรือเวลาเดินต้องก้มหน้ามองดูพื้นตลอดเวลา แสดงว่าสมองส่วนที่ควบคุมการทรงตัวทำงานผิดปกติไป ซึ่งอาจเกิดจากการเมาเหล้า เมายา หรือสมองส่วนที่ควบคุมการทรงตัวได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอหรืออื่นๆ

1.2 ลักษณะการเคลื่อนไหว คนเราบางคนจะทำอะไรดูเชื่องช้า บางคนทำอะไรดูพรวดพราดฉุกละหุก ถ้าหัดสังเกตเป็นเวลานานๆ เราก็เรียนรู้เองได้ว่า ช้าได้ถึงแค่ไหนหรือเร็วได้ถึงแค่ไหนที่ยังถือว่าเป็นปกติ ซึ่งในคนแต่ละอายุแต่ละวัยจะไม่เหมือนกัน เช่น

ในเด็ก ถ้าปล่อยไว้ตามลำพังแล้ว แกจะเคลื่อนไปทางโน้นทางนี้ หยิบโน่นหยิบนี่ เดินหรือวิ่งอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่เดินหรือวิ่งได้แล้ว เรียกว่า ไม่ยอมอยู่นิ่งได้ง่ายๆ นอกจากเวลาหลับ เหมือนกับที่เราเรียกกันว่า “จับปูใส่กระด้ง” บางครั้ง พ่อแม่ หรือคนเลี้ยงต้องวิ่งตามจนหอบ

ถ้าในวัยเด็กเช่นนี้ เด็กกลับอยู่เฉยๆ แบบที่พ่อแม่คนเลี้ยงอาจจะชอบเพราะเด็ก “ไม่ซน” ทั้งที่ควรจะซนเช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติและต้องเสาะหาสาเหตุ และจัดการแก้ไขเสีย

ในทางด้านตรงกันข้าม คนอายุ 60-70 ปี กลับ “ซน” ขึ้นมา นั่นคือ ชอบทำโน่นทำนี่จนผิดสังเกต ทำอะไรก็รวดเร็วพรวดพราด ต้องถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติและต้องเสาะหาสาเหตุเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าก่อนหน้านั้นไม่ได้มีนิสัยแบบนี้อยู่

อาการสั่น ของศีรษะ ลำตัว แขนขา มือเท้า ถ้ามีก็จะต้องสังเกตว่าเกิดขึ้นเวลาไหนเวลาอยู่เฉยๆ หรือเวลาจะทำอะไร

อาการกระตุก ที่หนังตา ที่หน้า ที่แขนขา มือเท้า ก็เป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติเช่นเดียวกัน

1.3 การพูดจา วิธีการพูดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพูดเร็ว บางคนพูดช้า บางคนพูดกล้ำคำ บางคนพูดไม่ชัด บางคนพูดชัดถ้อยชัดคำ แตกต่างกันออกไป ให้สังเกตไปเรื่อยๆ จนสามารถบอกได้ว่า ขนาดไหนที่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ การพูดที่ผิดปกติ เช่น

การพูดช้ามากจนทิ้งช่วง บางครั้งเราคิดว่าคนไข้พูดจบประโยคไปแล้ว แต่พอคนไข้พูดอีกครั้ง กลับต่อเข้าเป็นประโยคเดิม เช่นนี้มักเกิดจากความผิดปกติในสมอง

การพูดที่เร็วสั่นแต่ชัดเจน คล้ายกับว่าพูดอย่างรีบร้อน และกิริยาท่าทางก็ค่อนข้างจะร้อนรนด้วย มักจะเกิดในภาวะที่ต่อมธัยรอยด์ (ต่อมคอพอก) ทำงานมากเกินไป นั่นคือ ภาวะคอพอกเป็นพิษ

การพูดช้าและเสียงแหบซ่า ร่วมด้วยหน้าตาแขนขาและรูปร่างฉุๆ ก็มักจะเกิดจากต่อมคอพอกทำงานน้อยเกินไป

การพูดตะกุกตะกัก พูดติดอ่าง พูดลำบาก (จะพูดแต่ละคำต้องใช้เวลาคิดตั้งนานทั้งที่เป็นคำง่ายๆ) มักจะเกิดจากความผิดปกติในสมอง หรือจิตใจ

การพูดที่มีเสียงดังกังวาน มักแสดงถึงสุขภาพของร่างกาย โดยเฉพาะปอดและสุขภาพของจิตดี (กำลังภายในดี)

การพูดที่มีเสียงค่อยมาก ฟังยาก ต้องเงี่ยหูฟัง มักแสดงว่า สุขภาพกายและจิตใจไม่ค่อยดี เป็นต้น

1.4 กิริยามรรยาท คำพังเพยที่ว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล เป็นสิ่งที่นำมาใช้ได้ในการตรวจรักษาคนไข้

คนไข้ที่พูดสำเนียงเหน่อเป็นแบบชาวเหนือ ชาวอีสาน ชาวใต้ หรือชาวอื่นๆ จะทำให้เรารู้ว่าคนไข้เป็นคนในท้องถิ่นไหน และท้องถิ่นนั้นมีโรคที่พบบ่อยอะไรบ้าง จนบางครั้งแทบไม่ต้องซักประวัติหรือตรวจร่างกายอย่างอื่นเลย ก็พอเดาได้ว่าป่วยเป็นอะไร เช่น คนไข้ที่มีกำเนิดเป็นชาวอีสาน เดินมาหาเราด้วยท่าทางอ่อนเพลีย ตัวเหลืองตาเหลืองและท้องโต ส่วนใหญ่มักจะป่วยด้วยโรคตับ โดยเฉพาะโรคพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งจะทำให้ตับแข็ง หรือมะเร็งในตับหรือท่อน้ำดีได้

คนไข้ที่เข้ามาหาเราแล้วมีกิริยามรรยาทเรียบร้อย และค่อนข้างเก็บตัว แบบที่เรียกว่า เป็นผู้ดีชาววัง จะทำให้เราต้องระวังตัวกลัวใช้คำพูดที่เป็นชาวบ้านเกินไป เพราะอาจจะทำให้กระทบกระเทือนใจของคนไข้ คนไข้จำพวกนี้มักจะเปราะบางและมักจะให้ประวัติที่ไม่ตรงไปตรงมาเพราะได้รับการอบรมมาแบบนี้ จึงต้องทบทวนประวัติกลับไปกลับมาหลายครั้ง โดยใช้คำถามที่ไม่ตรงเกินไป และไม่ให้คนไข้จับได้ว่าเรากำลังถามซ้ำถามซากคล้ายกับว่าไม่เชื่อใจคนไข้

คนไข้ที่เข้ามาหาเราแล้วมีกิริยามรรยาทร่าเริง เปิดเผย ตรงไปตรงมา จะทำให้เราเชื่อใจในประวัติที่ซักได้มากขึ้น และจะทำให้การตรวจรักษาง่ายขึ้นมาก

คนไข้ที่มีกิริยาหุนหัน ฉุนเฉียว ใจร้อน ก็ต้องทำให้เราระวังตัวเช่นกัน เพราะการซักประวัติที่ผิดหูเพียงเล็กน้อย หรือการตรวจร่างกายที่คนไข้อาจจะเห็นเป็นการประเจิดประเจ้อ หรือไม่พอใจปาสักนิด อาจจะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทหรือคนไข้อาจจะทำร้ายเอาก็ได้

การตรวจกิริยาท่าทางของคนไข้ที่เข้ามาหาเราจึงช่วยเราหลายอย่าง เช่น ช่วยให้รู้จักคนไข้ว่าเป็นคนประเภทใด ควรจะเป็นโรคประเภทไหน และควรจะแก้ปัญหาโดยใช้ไม้นวม ไม้แข็ง หรือใช้คำพูด และกิริยาท่าทางอย่างไร เพื่อจะให้คนไข้ศรัทธาและสนิทสนมกับเราในระยะเวลาที่สั้นที่สุด

  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ invariety-helath.blogspot.com แหล่งรวมบทความของคนรักสุขภาพ

Reviews Camcorders.

 

INVariety Copyright © 2009 Cookiez is Designed by Ipietoon for Free Blogger Template